วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การเจริญอนุสติ ๑๐ ประการ



การฝึกอนุสสติ ๑๐ ประการ

          
อนุสสติ
   แปลว่า  "ตามระลึกถึง"  กรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานที่ตามระลึกนึกถึง
มีกำลังสมาธิไม่เสมอกัน  บางหมวดก็มีสมาธิเพียงอุปจารฌาน บางหมวดก็มีสมาธิถึงปฐมฌาน
บางหมวดก็มีสมาธิถึงฌาน ๔ และฌาน ๕ กำลังของกรรมฐานกองนี้มีกำลังไม่เสมอกันดังนี้ เมื่อถึง
กรรมฐานหมวดใดมีกำลังเท่าใด จะได้เขียนไว้เพื่อทราบ อนุสสติทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ก็เหมาะแก่อารมณ์
ของนักปฏิบัติไม่ใช่อย่างเดียวกัน บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต  บางหมวด
ก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในวิตกและโมหะจริต บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปใน ราคจริตกองใด
หมวดใดเหมาะแก่ท่านที่หนักไปในจริตใด  ก็จะได้เขียนบอกไว้เพื่อทราบเมื่อถึงกองนั้น ๆ  อนุสสตินี้
มีชื่อและอาการรวม ๑๐ อย่างด้วยกัน จะได้นำชื่อแห่งอนุสสติทั้งหมดมาเขียนไว้เพื่อทราบดังต่อไปนี้


          ๑. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์
          ๒. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์
          ๓. สังฆานุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์
          ๔. สีลานุสสติ ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์
          ๕. จาคานุสสติ ระลึกถึงผลของทานการบริจาคเป็นอารมณ์
          ๖. เทวานุสสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
             (อนุสสติทั้ง ๖ กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต)
          ๗. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์
          ๘. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสุขในพระนิพพานเป็นอารมณ์
             (อนุสสติ ๒ กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในพุทธจริต)
          ๙. กายคตานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในราคจริต
          ๑๐. อานาปานานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในโมหะและวิตกจริต
          อนุสสติทั้ง ๑๐ นี้ เหมาะแก่อัชฌาสัยของนักปฏิบัติแต่ละอย่างดังนี้ ขอท่านนักปฏิบัติ
พึงทราบ และเลือกปฏิบัติให้พอเหมาะพอดีแก่อัชฌาสัยของตน จะได้ผลเป็นสมาธิมีอารมณ์ตั้งมั่น
รวดเร็ว ไม่ล่าช้า

กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง ๑๐

          กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง ๑๐ มีกำลังสมาธิแตกต่างกันอย่างนี้
          พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ  เทวตานุสสติ  มรณานุสสติ  อุปสมานุสสติ  อนุสสติ
ทั้ง ๗ นี้ มีกำลังสูงสุดเพียงอุปจารสมาธิ
          สีลานุสสติ มีกำลังสมาธิถึงอุปจารสมาธิ  และอย่างสูงสุดเป็นพิเศษถึงปฐมฌาน ทั้งนี้ถ้าท่าน
นักปฏิบัติฉลาดในการควบคุมสมาธิจึงจะถึงปฐมฌานได้  แต่ถ้าทำกันตามปกติธรรมดาแล้ว ก็ทรงได้
เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น
          กายคตานุสสติกรรมฐานกองนี้ ถ้าพิจารณาตามปกติในกายคตาแล้ว จะทรงสมาธิได้เพียง
ปฐมฌานเท่านั้น แต่ถ้านักปฏิบัติฉลาดทำ  หรือครูฉลาดสอน ยกเอาสีเขียว  ขาว  แดง ที่ปรากฏใน
อารมณ์แห่งกายคตานุสสตินั้นเอามาเป็นกสิณ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคดังนี้ ท่านว่า กรรมฐานกองนี้
ก็สามารถทรงสมาธิได้ถึงฌาน ๔ ตามกำลังสมาธิในกสิณนั้น
 
อานาปานานุสสติ  สำหรับอานาปานานุสสตินี้ มีกำลังสมาธิถึงฌาน ๔ สำหรับท่านที่มีวาสนา
บารมีสาวกภูมิ  สำหรับท่านที่มีบารมีคือปรารถนาพุทธภูมิแล้ว  ก็สามารถทรงสมาธิได้ถึงฌาน  ๕
ฌาน ๔ หรือ ฌาน ๕ มีอาการแตกต่างกันอย่างไรต้องการทราบโปรดพลิกดูตอนต้นที่ว่าด้วยฌาน
          เมื่อท่านทราบกำลังสมาธิและความเหมาะสมแก่จริตของบรรดาอนุสสติ ทั้งหมดนี้แล้ว
ต่อแต่นี้ไป จะได้อธิบายอนุสสติเป็นกอง ๆ  ไป  เพื่อความเข้าใจพอสมควร เพราะการอธิบายนี้อาจไม่
ละเอียดเท่าแบบ คือ วิสุทธิมรรคในบางตอนที่ควรย่อก็จะย่อลงให้สั้น บางตอนควรขยายก็จะขยายให้
ยาวออกไป เพื่อความเข้าใจของนักปฏิบัติเป็นสำคัญ  หากตอนใดย่อสั้นเกินไปท่านไม่เข้าใจแล้ว
ถ้าประสงค์จะให้เข้าใจชัด โปรดหาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะได้รับความรู้เพิ่มเติมครบถ้วนบริบูรณ์

๑. พุทธานุสสติกรรมฐาน      
           กรรมฐานกองนี้ท่านสอนให้ระลึกถึงคุณความดีของพระพุทธเจ้า การระลึกถึงความดีของ
พระพุทธเจ้า  ระลึกได้ไม่จำกัดว่า จะต้องระลึกตามแบบของท่านผู้นั้นผู้นี้ที่สอนไว้โดยจำกัด   เพราะ
พระพุทธคุณ คือคุณความดีของพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายจะพรรณนาอย่างไรให้จบสิ้นนั้นย่อมเป็นไป
ไม่ได้ และถ้าจะมีใครมาวางแบบวางแผนว่า การระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้านั้น ต้องจำกัดลงไปว่า ระลึก
อย่างนั้นอย่างนี้จึงจะถูกต้องตามที่ปรากฏในปัจจุบันมีมาก 
 
ระลึกตามแบบ
          ระลึกตามแบบ หมายความท่านผู้ใดจะนั่งนอนระลึกนึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า โดยยก
เอาพระคุณของพระองค์มาระลึกถึง  เช่น ระลึกถึงพระคุณสามประการ คือ
          ๑. ระลึกถึงความบริสุทธิ์ของพระองค์  ที่ทรงกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด ไม่มีความชั่วเหลืออยู่
ในพระกมลสันดาน  พระองค์ทรงบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง ๆ เป็นความดีที่เราควรปฏิบัติตาม
          ๒. ระลึกถึงพระปัญญาอันเฉียบแหลมเฉลียวฉลาดของพระองค์ ด้วยพระองค์มีความรู้
ความฉลาดยอดเยี่ยมกว่าเทวดา พรหม และมนุษย์ทั้งหลายเพราะนอกจากจะทรงรู้ในหลักวิชาการ
ต่างๆ ตามความนิยมของปกติชนแล้ว พระองค์ยังทรงรู้ที่มาของความทุกข์ และรู้การปฏิบัติเพื่อ
ทำลายต้นตอของความทุกข์นั้น ๆ ได้แก่ทรงรู้ในอริยสัจ ๔
          ๓. ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คือพระองค์เมื่อทรงเป็นผู้รู้เลิศแล้ว พระองค์มิได้ปกปิด
ความรู้นั้นเพื่อพระองค์เองโดยเฉพาะ พระองค์นำความรู้มาสั่งสอนแก่หมู่มวลชนอย่างเปิดเผย
ไม่ปกปิดความรู้แม้แต่น้อย พระองค์ทรงทรมานพระวรกาย เพราะสั่งสอนพุทธเวไนยให้เกิดความรู้
ความฉลาด เพื่อกำจัดเหตุชั่วร้ายที่ฝังอยู่ในสันดานมานาน มีสภาพคล้ายผีสิง เหตุชั่วร้ายนั้นก็คือ
          ก. ความโลภ อยากได้สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน
          ข. ความพยาบาท คือความโหดร้ายที่ฝังอยู่ในจิตใจ คิดที่จะประหัตประหารทำอันตราย
ผู้อื่นให้ได้รับความ พินาศ
          ค. ความโง่เขลา ที่คอยกระตุ้นเตือนใจให้ลุ่มหลงในสรรพวัตถุจนเกินพอดี คือคิดปลูกฝังใจ
ในวัตถุ  โดยไม่คิดว่าของนั้นจะต้องเก่า จะต้องพังไปในสภาพ
          พระองค์ทรงพระกรุณาสอนให้รู้ทั่วกันว่า  การมุ่งหวังจะเอาทรัพย์ของผู้อื่นมาเป็นของตนนั้น
เป็นความเลวร้ายที่ควรจะละ  เพราะเป็นเหตุของการสร้างศัตรู  การคิดประทุษร้ายด้วยอำนาจโทสะ
เป็นเหตุบั่นทอนความสุขส่วนตน เพราะผู้คิดนั้นเกิดความทุกข์ตั้งแต่เริ่มคิด คือกินไม่อิ่มนอนไม่หลับ
ทำให้สุขภาพของตนเสื่อมโทรมยังไม่ทันทำอันตรายเขา ผู้คิดก็ค่อย ๆ  ตายลงไปทีละน้อย ๆ แล้ว
เพราะเหตุที่กินน้อยนอนน้อย การหลงในทรัพย์เกินไป ที่ไม่คิดว่ามันจะต้องเก่า  ต้องทำลายตามสภาพ
เป็นเหตุให้เกิดความคับแค้น   คือเสียใจ เศร้าใจ ทำให้ชีวิตไม่สดใส สดชื่น มีความเศร้าหมอง มีทุกข์
ประจำใจเป็นปกติ

ทางแก้ไข
          ๑. ความโลภอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน พระองค์ทรงสอนให้รู้จักการให้
ทานเป็นการแก้ความรู้สึกเดิม เพราะทานเป็นการสละออก มีอาการตรงข้ามกับการคิดอยากได้ผล
ทานนี้ก็มีผลเป็นเครื่องบันดาลความสุขในปัจจุบัน เพราะผู้รับทานย่อมมีความรักและเคารพในผู้ให้
ทาน การให้ทานเป็นการสร้างมิตร ตรงกันข้ามกับการคิดอยากได้ดังผู้อื่น เป็นเหตุของความทุกข์
เป็นเหตุของการสร้างศัตรู
          ๒. พยาบาท ท่านสอนให้รักษาศีลเป็นเครื่องบั่นทอนกำลังพยาบาท  เพราะมาจากโทสะ
ความคิดประทุษร้ายเป็นสมุฏฐาน  สำหรับการรักษาศีลนั้น มีเมตตา ความแสดงออกถึงความรัก
ความสงสารเป็นเป็นสมุฏฐาน เมื่อรักษาศีลก็ต้องมีเมตตา กรุณา ถ้าเมตตากรุณา ไม่มีแล้ว ศีลก็
ทรงตัวไม่ได้ ฉะนั้นที่พระองค์ทรงสอนให้รักษาศีล ก็คือฝึกจิตให้มีเมตตาปรานีนั่นเอง ซึ่งมีคติ
ตรงข้ามกับพยาบาท และเป็นอารมณ์หักล้าง พยาบาทเป็นเหตุของความสุข เพราะคนที่มีความ
เมตตาปรานีนั้น ย่อมเป็นที่รักของมวลชน แม้สัตว์เดียรัจฉานก็รัก เราจะเห็นได้ว่าบ้านที่มีสุนัขดุ ๆ
ใคร ๆ  ก็เข้าไม่ได้  ถ้าเราหมั่นเอาอาหารไปให้สุนัขตัวนั้นบ่อย ๆ ไม่ช้าก็เชื่อง เป็นมิตรที่ดีไม่ทำ
อันตรายคนมีเมตตา มีความสุขเพราะเป็นที่รักของชนทั่วไปอย่างนี้  เป็นการแก้เหตุของ
ความทุกข์ให้เป็นเหตุของความสุข จัดว่าเป็น พระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างมหันต์
          ๓. ความหลง คือความโง่ ที่มีความคิดว่า อะไรที่เรามีแล้ว ต้องมีสภาพคงที่ ไม่เก่า
ไม่ทำลาย พอของสิ่งนั้นเก่าหรือทำลาย ความเสียใจก็เกิดขึ้น กฎข้อนี้เป็นปกติธรรมดาก็จริง
ที่พอจะรู้ได้อย่างไม่ยาก แต่คนในโลกนี้ก็ไม่ค่อยคิดตาม กลับคิดฝืนกฎธรรมดาจนเป็นเหตุของ
ความทุกข์อย่างมหันต์ เพราะคนเกิดแล้วต้องตาย ชาวบ้านชาวเมืองตายให้ดูเยอะแยะ ไม่จดจำ
แต่พอตัวจะตาย ญาติตาย เกิดทุกข์ร้องไห้เสียใจ ความจริงความตายนี้เป็นของปกติธรรมดา
ไม่มีใครพ้น แต่คนไม่คิดมีแต่ความผูกพัน คิดว่าจะอยู่ตลอดกาล พระองค์เห็นว่าคนทั่วโลกโง่
อย่างนี้  จึงทรงแก้ด้วยการสอนวิปัสสนาญาณ  คือสอนให้รู้กฎของความเป็นจริง ยอมรับนับถือ
ตามความเป็นจริง  เป็นการเปลื้องอุปาทาน คือความโง่ออกเสียจากความรู้สึก เป็นการสร้าง
ความสบายใจให้เกิดแก่มวลพุทธศาสนิกชนทั่วไป
          ท่านจะคิดใคร่ครวญถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าตามนี้ก็ได้  หรือจะคิดอย่างอื่นก็ได้
แต่ขอให้อยู่ในข่ายระลึกนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นใช้ได้

ระลึกตามบทพระพุทธคุณ ๙ อย่าง

          การระลึกตามแบบพระพุทธคุณ  ๙  อย่างนี้ เป็นการระลึกถึงผลที่พระองค์ทรงบรรลุ
จะไม่นำมาเขียนไว้เห็นท่าจะไม่เหมาะ ขอนำมาเขียนไว้เพื่อทราบดังต่อไปนี้

          ๑. อรหัง คำว่า อรหังนี้  แปลว่า ท่านผู้ไกลจากกิเลส หมายความว่า พระพุทธองค์
ไม่มีกิเลสเครื่องเศร้าหมองอยู่ในพระหฤทัยเลย เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ผุดผ่องจริง ๆ  อารมณ์กิเลส
ที่พระอรหังหรือที่เรียกว่าพระอรหันต์ละได้นั้น มี ๑๐ อย่าง คือ

          ก. สักกายทิฎฐิ  เห็นว่าร่างกายนี้  ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในกาย  กายไม่มีในเรา ท่านละ
ความเห็นว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์บุคคล เราเขาเสียได้ " โดยเห็นว่า ร่างกายนี้เป็นเพียงแต่ธาตุ ๔
คือ ดิน น้ำ ลม  ไฟ ประชุมกันชั่วคราว เป็นที่อาศัยของนามธรรม คือ เวทนา ความรู้สึกสุขทุกข์ และ
ไม่สุข ไม่ทุกข์  คืออารมณ์วางเฉยจากอารมณ์สุขทุกข์  สัญญา มีความจดจำเรื่องราวที่ล่วงมาแล้ว
สังขาร อารมณ์ชั่วร้ายและอารมณ์เมตตาปรานีสดชื่น  อันเกิดต่ออารมณ์ที่เป็นกุศล  คือความดีและ
อารมณ์ที่เป็นอกุศล คือความชั่วที่เรียกกันว่า อารมณ์เป็นบุญ และอารมณ์เป็นบาปที่คอยเข้าควบคุมใจ
วิญญาณ คือ ความรู้ หนาว ร้อน หิวกระหาย เผ็ดเปรี้ยวหวานมันเค็ม และการสัมผัสถูกต้องเป็นต้น
วิญญาณนี้ไม่ใช่ตัวนึกคิด ตัวนึกคิดนั้นคือจิต วิญญาณกับจิตนี้คนละอันแต่นักแต่งหนังสือมักจะเอาไป
เขียนเป็นอันเดียวกัน ทำให้เข้าใจเขว ควรจะแยกกันเสีย เพื่อความเข้าใจง่าย อีกสิ่งหนึ่งที่เข้ามา
อาศัยกายและไม่ตายร่วมกับร่างกาย สิ่งนั้นก็คือจิต เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณนี้ ตายร่วมกับ
ร่างกาย คือกายตายก็ตายด้วย  แต่จิตที่เข้ามาอาศัยกายนี้ เข้ามาอาศัยชั่วคราว  เมื่อกายตั้งอยู่ คือ
ดำรงอยู่ร่วมพร้อมกับ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จิตก็อาศัยอยู่ แต่ถ้าขันธ์ ๕ มีร่างกายเป็น
ประธานตายแล้วจิตก็ท่องเที่ยวไปแสวงหาที่อาศัยใหม่ คำว่าเราในที่นี้ ท่านหมายเอาจิตที่เข้ามา
อาศัยกาย เมื่อท่านทราบอย่างนี้ท่านจึงไม่หนักใจ และผูกใจว่า ขันธ์ ๕ คือร่างกายนี้เป็นเราเป็น
ของเรา เราไม่มีในกายกายไม่มีในเรา เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยในกาย คือ ขันธ์ ๕ นี้ ขันธ์ ๕
ถ้าทรงอยู่ได้รักษาได้ก็อาศัยต่อไปถ้าผุพังแล้วท่านก็ไม่หนักใจ ไม่ตกใจ ไม่เสียดายห่วงใยใน
ขันธ์  ๕ ท่านปล่อยไปตามกฎของธรรมดาเสมือนกับคนอาศัยรถหรือเรือโดยสาร เมื่อยังไม่ถึง
เวลาลงก็นั่งไป แต่ถึงจุดหมายปลายทางเมื่อไร ก็ลงจากรถจากเรือ โดยไม่คิดห่วงใยเสียดายรถ
หรือเรือโดยสารนั้น  เพราะทราบแล้วว่ามันไม่ใช่ของเราเขาก็ไม่ใช่เรา  เราก็ไปตามทางของเรา
ส่วนรถเรือโดยสารก็ไปตามทางของเขา ต่างคนต่างไม่มีห่วงใย พระอรหันต์ทั้งหลายท่าน
มีความรู้สึกอย่างนี้  พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมอรหันต์ พระองค์มีความรู้สึกอย่างนี้  ท่านนักปฏิบัติ
ที่ระลึกถึงพระคุณข้อนี้  ก็ควรทำความพอใจตามที่พระองค์ทรงบรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างนี้
จะเป็นเครื่องบั่นทอนกิเลสลงได้มาก จนเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์อย่างพระองค์ "
          ข. วิจิกิจฉา พระอรหันต์ท่านเชื่อมั่นในธรรมปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้ว
โดยไม่เคลือบแคลงสงสัยและปฏิบัติตามด้วยศรัทธายิ่ง
          ค. สีลัพพตปรามาส ท่านรักษาศีลเป็นอธิศีล คือ ไม่ละเมิดศีลด้วยตนเองไม่แนะให้ใคร
ละเมิดศีล ไม่ยินดีเมื่อผู้อื่นละเมิดศีล
          ฆ. ละกามฉันทะ คือความยินดีในกามารมณ์ ท่านหมดความรู้สึกทางเพศเด็ดขาดมีอสุจิ
เหือดแห้ง ความรู้สึกพอใจในกามารมณ์ไม่มีในความรู้สึกของท่านเลย
          ง. พยาบาท ท่านตัดความโกรธความพยาบาทได้สิ้นเชิง มีแต่ความเมตตาปรานีเป็นปกติ
          จ. รูปราคะ ท่านตัดความสำคัญในรูปฌานว่าเลิศเสียได้ โดยเห็นว่ารูปฌานนี้เป็นกำลังส่งให้
เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ไม่ใช่ตัวมรรคผลนิพพาน
          ฉ.ท่านตัดความเห็นว่าเลิศในอรูปฌานเสียได้ โดยเห็นว่าอรูปฌานนี้ก็เป็นเพียงกำลังส่งให้
เข้าถึงวิปัสสนาญาณเช่นเดียวกับรูปฌาน
          ช. มานะ ท่านตัดความถือตัวถือตนว่า เราเลวกว่าเขา  เราเสมอเขา  เราดีกว่าเขาเสียได้
โดยวางอารมณ์เป็นอุเบกขา คือเฉย ๆ ต่อยศฐาบรรดาศักดิ์และฐานะความเป็นอยู่เพราะทราบแล้ว
ว่าไม่มีอะไรยั่งยืนตลอดกาล
          ซ. อุทธัจจะ ท่านตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ที่คิดนอกลู่นอกทางเสียได้ มีอารมณ์ผ่องใสพอใจ
ในพระนิพพานเป็นปกติ
          ฌ. ท่านตัดอวิชชา คือความโง่ออกเสียได้สิ้นเชิง ท่านหมดความพอใจในสิ่งที่มีชีวิต และ
ไม่มีชีวิต โดยที่คิดว่าเป็นสมบัติยั่งยืนได้สิ้นเชิงท่านเห็นว่า ไม่ว่าอะไรทั้งสิ้นมีเกิดแล้วก็เสื่อมในที่สุด
ก็ต้องทำลาย ฉะนั้น อารมณ์ของท่านจึงไม่ยึดถืออะไรมั่นคง  มีก็ใช้  เมื่อสลายตัวไปก็ไม่มีทุกข์
          ท่านตัดความกำหนัดยินดีในสมบัติของโลกเสียทั้งหมด ไม่มีเยื่อใยรักใคร่หวงแหนอะไร
ทั้งหมด แม้แต่สังขารของท่าน
          พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทุกองค์มีความรู้สึกอย่างนี้ ท่านที่เจริญอนุสสติข้อนี้ เมื่อ
ใคร่ครวญตามความดีทั้งสิบประการนี้เสมอ ๆ ทำให้อารมณ์ผ่องใสในพระพุทธคุณมากขึ้น เป็น
เหตุให้เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างไม่ยากนัก
 
๒. สัมมาสัมพุทโธ  แปลว่า  ตรัสรู้เองโดยชอบ  ความหมายนี้ หมายความว่า พระองค์
ทรงรู้อริยสัจ ทั้ง ๔ คือ รู้ทุกข์ คือความไม่สบายกายไม่สบายใจ รู้สมุทัย คือเหตุให้เกิดทุกข์ ได้แก่
ตัณหา ๓ ประการ คือ
          ๑. กามตัณหา ทะยานอยากได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยมี อยากให้มีขึ้น
          ๒. ภวตัณหา สิ่งใดที่มีอยู่แล้ว อยากให้คงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่อยากให้เก่า ไม่อยากให้
เปลี่ยนแปลง
          ๓.วิภวตัณหา อยากให้สิ่งที่จะต้องสลายตัวนั้น ที่เป็นไปตามกฎธรรมดา มีความปรารถนา
ไม่ให้กฎธรรมดาเกิดขึ้น คือ ไม่อยากให้สลายและไม่อยากเสื่อม ไม่อยากตายนั่นเอง ความรู้สึกอย่างนี้
เป็นความรู้สึกที่ฝืนกฎธรรมดา เป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์
          ทรงนิโรธะ คือความดับสูญไปแห่งความทุกข์ และทรงทราบมรรค คือปฏิปทาที่ปฏิบัติให้
เข้าถึงความทุกข์ คือทุกข์นั้นสูญสิ้นไป ได้แก่ทรงทราบมรรคคือข้อปฏิบัติ ๘ ประการดังต่อไปนี้
          ๑. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ
          ๒. สัมมาสังกัปโป  ความดำริชอบ
          ๓. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ
          ๔. สัมมากัมมันโต  มีการงานชอบ
          ๕. สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีพชอบ
          ๖. สัมมาวายาโม  ความพยายามชอบ
          ๗. สัมมาสติ   ระลึกชอบ
          ๘. สัมมาสมาธิ  ตั้งใจชอบ

          ในมรรคคือข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงความดับสูญไปแห่งทุกข์นี้ ย่อลงเหลือสาม คือได้แก่ ศีล
การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย  ตามขอบเขตของสิกขาบท สมาธิ  การดำรงความตั้งมั่นของจิต
ที่ไม่เป็นเวรเป็นภัยต่อสังคม คือดำรงฌานไว้ด้วยดี เพื่อเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ ปัญญา ได้แก่การ
เจริญวิปัสสนาญาณจนรู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดา ไม่มีอารมณ์คิดที่จะฝืนกฎธรรมดานั้น
          ๓. วิชชาจรณสัมปันโน  แปลว่า พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ ทรงมี
ความรู้รอบและความประพฤติครบถ้วน
         วิชชา แปลว่าความรู้ หมายถึงรู้ในวิชชาสาม ที่สามัญชนไม่สามารถจะรู้ได้ คือ
          ๑. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ทรงมีความรู้ในการระลึกชาติที่ล่วงแล้วมาได้อย่างไม่จำกัด
ไม่มีผู้อื่นใดจะระลึกชาติได้มากเท่าพระองค์ และพระองค์ทรงมีความชำนาญในการระลึกชาติได้
อย่างเยี่ยม
          ๒. จุตูปปาตญาณ พระองค์ทรงมีความรู้ ความเกิด และความตายของสัตว์ โดยทรงรู้ว่า
สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้ไปเกิด ณ ที่ใด  มีความสุขความทุกข์เป็นประการใด  เพราะผลกรรมอะไรเป็น
เหตุ และทรงทราบว่า สัตว์ที่ตายไปแล้วนี้มาจากไหน ที่มีความสุขความทุกข์อยู่นี้ เพราะอาศัยกรรม
อะไรเป็นเหตุ
          ๓. อาสวักขยญาณ ทรงรู้วิชชาที่ทำอาสวกิเลสให้หมดสิ้นไป
          จรณะ หมายถึงความประพฤติ  พระองค์มีความประพฤติครบถ้วนยอดเยี่ยม ท่านประมวล
ความประพฤติที่พอจะนำมากล่าวไว้ได้โดยประมวลมี ๑๕ ข้อด้วยกัน คือ
          ๑. สีลสัมปทา พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยศีล  คือ ทรงปฏิบัติในศีลไม่บกพร่อง
          ๒. อินทรียสังวร ทรงระมัดระวังในการเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถ
          ๓. โภชเนมัตตัญญุตา ทรงรู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
          ๔. ชาคริยานุโยค ทรงประกอบความเพียรของผู้ตื่นอยู่ คือ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน
บริบูรณ์
          ๕. สัทธา ทรงมีความเชื่อมั่นในผลการปฏิบัติ ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย
          ๖. หิริ ทรงมีความละอายต่อผลของความชั่วทั้งมวล
          ๗. โอตตัปปะ ทรงเกรงกลัวต่อผลของความชั่วทั้งมวล
          ๘. พาหุสัจจะ ทรงสั่งสมวิชาการต่าง ๆ ด้วยการศึกษามาแล้วด้วยดี
          ๙. วิริยะ ทรงมีความเพียรไม่ท้อถอย โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
          ๑๐. สติ ทรงมีสติสมบูรณ์
          ๑๑. ปัญญา  มีปัญญารอบรู้ในวิทยาการทุกแขนง และทรงรู้แจ้งในอริยสัจ โดยที่มิได้ศึกษา
จากผู้ใดมาในกาลก่อน ทรงค้นคว้าพบด้วยพระองค์เอง
          ๑๒. ปฐมฌาน ทรงฝึกฌาน จนได้ปฐมฌาน
          ๑๓. ทุติยฌาน ทรงฝึกจนได้ฌานที่สอง
          ๑๔. ตติยฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนได้ฌานที่สาม
          ๑๕. จตุตถฌาน ทรงฝึกสมาธิ จนทรงฌานที่ ๔ ไว้ได้ด้วยดีเป็นพิเศษ
          ทั้งหมดนี้ จัดเป็นจริยา คือความประพฤติของพระองค์ อันเป็นแบบอย่างที่บรรดาพุทธสาวก
จะพึงปฏิบัติตามให้ครบถ้วนบริบูรณ์  เพื่อผลไพบูลย์ในการปฏิบัติเพื่อมรรคผล เพราะพระองค์ทรงมี
ความประพฤติอย่างนี้ จึงทรงบรรลุมรรคผล หากพุทธศาสนิกชนที่นับถือพระองค์ปฏิบัติตาม  ก็มีหวัง
ได้บรรลุมรรคผลในชาติปัจจุบัน
 
๔. สุคโต  แปลว่า  เสด็จไปดีแล้ว หมายความว่า พระองค์เสด็จไป ณ ที่ใด พระองค์
นำแต่ความสุขไปให้เจ้าของถิ่น คือนำความรู้อันเป็นเหตุของความสุขไปให้ ไม่เคยสร้างความ
เดือดร้อนให้แก่ผู้ใด ใครก็ตาม บูชาพระองค์แล้ว ไม่เคยผิดหวังที่จะได้รับความสุขในทางปฏิบัติ
          ๕. โลกวิทู แปลว่า รู้แจ้งโลก หมายความว่า โลกทุกโลกมียมโลก คือโลกแห่งการ
ทรมาน ได้แก่นรก เปรต อสุรกาย เป็นต้น มนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก และพระนิพพาน อันเป็น
ดินแดนพ้นโลก พระองค์ทรงทราบตลอดหมดสิ้น แม้แต่ปฏิปทาที่จะให้ไปเกิดในโลกนั้น ๆ
          ๖. อนุตตโร ปุริสทัมมสารถิ แปลว่า เป็นนายสารถีผู้ฝึก ไม่มีนายสารถีใดมีความ
สามารถฝึกได้เสมอเหมือนพระองค์ ทั้งนี้หมายความถึงการฝึกธรรมปฏิบัติ พระองค์ทรงมีญาณพิเศษ
ที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ทรงรู้ใจคนว่า ผู้นี้ควรสอนอย่างไรจึงได้ผล พระองค์ทรงฝึกสอนตามที่รู้ด้วย
พระญาณนั้น จึงมีความสามารถฝึกได้ดีเป็นพิเศษ
          ๗. สัตถา เทวมนุสสานัง แปลว่า พระองค์ทรงเป็นครูของเทวดาและมนุษย์  ทั้งนี้
หมายความว่า การสั่งสอนเพื่อมรรคผลนั้น พระองค์มิได้ทรงสั่งสอนแต่มนุษย์เท่านั้น แม้เทวดาและ
พรหม พระองค์ทรงสั่งสอน การสอนมนุษย์ท่านอาจไม่สงสัย แต่การสอนเทวดานั้นท่านอาจจะแปลกใจ
ข้อนี้ขอให้อ่านพุทธประวัติจะทราบ ว่าพระองค์ทรงสั่งสอนเทวดาและพรหมเป็นปกติเกือบทุกวัน
เช่นเดียวกับสอนมนุษย์เหมือนกัน
          ๘. พุทโธ แปลว่า  ผู้รู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว ได้เหมือนกัน ความหมายถึงคำว่า
พุทโธก็มีอย่างนี้  คือ  หมายถึงพระองค์ทรงรู้พระองค์ ด้วยความเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะอยู่
ตลอดเวลานั่นเอง
          ๙. ภควา แปลว่า ผู้มีโชค หมายถึงพระองค์เป็นผู้มีโชคก่อนใคร ๆ ที่พระองค์เป็นผู้รู้เท่าทัน
อวิชชา คือความโง่เขลาเบาปัญญา  ความโง่ไม่สามารถครอบงำพระองค์ได้ โดยอาศัยที่พระองค์ทรง
ค้นพบอริยสัจ ๔ จึงสามารถทำลายอำนาจอวิชชาคือความโง่ให้สลายตัวไปเสียได้ เหลือไว้แต่ความฉลาด
หลักแหลม ความโง่ไม่สามารถจะบังคับบัญชาพระองค์ให้หลงใหลไปในอำนาจกิเลสและตัณหาได้ต่อไป
พระองค์ทรงพบความสุขที่ยอดเยี่ยม ไม่มีความสุขอื่นยิ่งกว่า ความสุขที่ว่านี้ คือ พระนิพพาน
          พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ พระอาจารย์รุ่นเก่าท่านประพันธ์ไว้ให้บรรดาพุทธศาสนิกชน
ระลึกนึกถึง จัดเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน คือตั้งอารมณ์ข่มนิวรณ์ปรารภถึงความดีของพระพุทธเจ้า
เมื่อพระโยคาวจร คือท่านนักปฏิบัติพระกรรมฐานได้คำนึงถึงความดีของพระพุทธเจ้า ตามที่เขียนมานี้
ทั้งหมด หรือข้อใดข้อหนึ่ง หรือจะนึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าในลักษณะอื่น แต่เป็นไปตามแบบพระ-
พุทธจริยาแล้ว จนจิตมีความเคยชิน  ระงับนิวรณธรรมห้าประการเสียได้ จิตตั้งอยู่ในอุปจารสมาธิแล้ว
เจริญวิปัสสนาญาณ ท่านว่าท่านผู้นั้นสามารถจะชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้   เพราะอาศัยความ
เลื่อมใสในพระพุทธจริยา จัดว่าเป็นผู้มีโชคอย่างยิ่ง คือจะได้สำเร็จมรรคผลได้โดยฉับพลัน
          พุทธานุสสติกรรมฐานนี้ ที่กล่าวมาแล้วนั้น กล่าวตามแบบแผนที่ท่านสอน และเป็นแบบตรง
ตามพระพุทธประสงค์ เพราะอาศัยที่พุทธานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่มีอารมณ์คิด จึงมีกำลัง
เพียงอุปจารฌาน ไม่สามารถจะเข้าให้ถึงระดับฌานได้ แต่ที่ท่านสอนกันในปัจจุบัน ในแบบพุทธา-
นุสสตินี้ ท่านสอนแบบควบหลาย ๆ อย่างรวมกัน เช่น
แบบหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
          เริ่มต้นให้พิจารณาขันธ์ ๕ ก่อน โดยพิจารณาว่า ขันธ์  ๕ นี้  ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ท่านสอนให้รู้เรื่องของขันธ์  ๕ จนละเอียด แล้วสั่งให้พิจารณาไป ท่านบอกว่าการพิจารณาอย่างนี้
ถ้าพิจารณาได้ตลอดไป โดยที่จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น ท่านให้พิจารณาเรื่อยไป ท่านบอกว่าพิจารณา
ได้ตลอดวันตลอดคืนยิ่งดี แต่ท่านไม่ได้บอกว่าเป็นวิปัสสนาญาณ เพียงแต่ท่านบอกว่า ก่อนภาวนาควร
พิจารณาขันธ์เสียก่อน และไม่ต้องรีบภาวนา ถ้าใครพิจารณาจนเห็นว่าร่างกาย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
เราไม่มีในขันธ์  ๕  ขันธ์  ๕ ไม่มีในเรา อัตภาพตัวตนเป็นเพียงธาตุ  ๔ ประชุมเป็นร่าง เป็นที่อาศัย
ชั่วคราวของจิต จนละความห่วงใยในขันธ์ ๕ เสียได้ โดยที่ไม่ได้ภาวนาเลยก็ยิ่งดี

         ต่อเมื่อจิตจะส่าย  พิจารณาไม่ได้ดี ท่านให้ภาวนาโดยตั้งอารมณ์ดังต่อไปนี้
          กำหนดลมหายใจไว้สามฐาน คือ ที่จมูก อก และศูนย์เหนือสะดือ ลมจะกระทบสามฐานนี้
ให้กำหนดรู้ทั้งสามฐานเพื่อลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา พร้อมกันนั้นท่านก็ให้ภาวนาว่า พุทธ ภาวนา
เมื่อสูดลมหายใจเข้า โธ ภาวนาเมื่อหายใจออก แล้วท่านให้นึกถึงภาพพระพุทธที่ผู้ปฏิบัติเคารพมาก
จะเป็นพระพุทธรูปวัดใด องค์ใดก็ได้ตามใจสมัคร
          ท่านสอนดังนี้ ผู้เขียนเรียนกับท่าน ไม่เคยรู้เลยว่าตอนแรกท่านให้เจริญวิปัสสนาญาณ
คิดว่าเป็นสมถะ ตอนที่ภาวนา คิดว่าเป็นพุทธานุสสติล้วน ต่อมาถึงได้ทราบว่า ท่านให้กรรมฐาน ๔
อย่างร่วมกัน  คือ  ตอนพิจารณาขันธ์  ๕  เป็นวิปัสสนาญาณ ตอนกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็น
อานาปานานุสสติกรรมฐาน ตอนภาวนา เป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน ตอนเพ่งรูปพระเป็นกสิณ ท่านมี
ความฉลาดสอนรวมคราวเดียว ๔ อย่าง กำลังพุทธานุสสติมีเพียงอุปจารฌาน อานาปานและกสิณ
มีกำลังถึงฌาน  ๔  รู้สึกว่าท่านฉลาดสอน ท่านสอนเผื่อเหนียวไว้พร้อมมูล หากพบท่านที่มีอุปนิสัย
สุกขวิปัสสโกเข้า ท่านเหล่านั้นก็พอใจในวิปัสสนาญาณ ท่านก็จะพากันได้มรรคผลไปตาม ๆ กัน
แบบท่านวัดปากน้ำภาษีเจริญ

          ท่านสอนแบบพุทธานุสสติควบแบบอื่นเหมือนกัน โดยท่านให้กำหนดลม ๗ ฐาน แล้วภาวนาว่า
สัมมาอรหัง แล้วกำหนดดวงแก้ว ตามแบบของท่านควรวิจัยอย่างนี้
           กำหนดฐานลมเป็นอานาปานานุสสติ ภาวนาเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน กำหนดดวงแก้ว
เป็นอาโลกกสิณ เป็นกสิณกลาง เป็นเหตุให้ได้ทิพยจักษุญาณและได้มโนมยิทธิ
           รวมความว่าท่านอาจารย์ในกาลก่อนท่านฉลาดสอนเพราะท่านได้ผ่านถึง ท่านไม่ทำแบบ
สุกเอาเผากินและไม่ใช่สอนแบบเดาสุ่ม ขอท่านนักปฏิบัติควรทราบไว้และอย่าเอาคำภาวนาเป็นเหตุ
สร้างความสะเทือนใจในกันและกัน จะกลายเป็นสร้างบาปอกุศลไป
(จบบรรยายพุทธานุสสติแต่เพียงโดยย่อไว้เท่านี้)

๒. ธัมมานุสสติกรรมฐาน

          ธัมมานุสสติกรรมฐาน  แปลว่า  ตั้งอารมณ์เป็นการงาน เป็นงานในการระลึกนึกถึง
คุณพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ คำว่าเป็นอารมณ์  หมายถึงให้เอาจิตใจจดจ่อ
อยู่ในคุณของพระธรรมเป็นปกติ ไม่เอาจิตไปนึกคิดอารมณ์อื่นนอกเหนือไปจากพระธรรม อาการที่
คิดถึงคุณของพระธรรมนี้มีอารมณ์การคิดไว้มากมาย เช่นเดียวกับการคิดถึงคุณพระพุทธเจ้า เพราะ
พระธรรมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด ๆ  แม้แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็มีความ
เคารพในพระธรรม เพราะพระธรรมเป็นหลักความประพฤติดี ประพฤติชอบประจำโลก การที่
พระพุทธเจ้าพระองค์จะทรงบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณได้  ก็เพราะอาศัยพระธรรมเป็นหลักปฏิบัติ
ฉะนั้น ในพระพุทธศาสนานี้ จึงนิยมยกย่องพระธรรมว่า เป็นสรณะที่พึ่งอันประเสริฐสรณะหนึ่ง การระลึก
ถึงคุณพระธรรมนี้ ท่านอาจจะเลือกเอาคำสั่งสอนตอนใดตอนหนึ่งที่ท่านชอบในบรรดาคำสอน ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ มาเป็นอารมณ์ระลึกได้ตามชอบใจ แต่ท่านโบราณาจารย์ท่านประพันธ์บทสรรเสริญ
พระธรรมไว้  ๖  ข้อ จะขอนำมากล่าวไว้พอเป็นแนวปฏิบัติ

คุณของพระธรรม ๖

          ๑. สวากขาโต ภควาตา ธัมโม  พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว ข้อนี้หมายถึง
อาการคำนึงถึงคุณพระธรรมแบบรวม ๆ ว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดรวม ๘๔,๐๐๐
พระธรรมขันธ์ ย่อลงเหลือสาม คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีลที่บริสุทธิ์อย่างเยี่ยมสมาธิที่ตั้งมั่น
อย่างยิ่งคือ สมาบัติแปด อธิปัญญา ได้แก่การเจริญวิปัสสนาญาณได้มรรคผลคือ พระโสดา สกิทาคา
อนาคา อรหัตตผล คุณธรรม ทั้งหมดนี้ประเสริฐยอดเยี่ยม ไม่มีสิ่งอื่นใดเสมอเหมือน เพราะสามารถ
กำจัดความทุกข์ ความเดือดร้อนได้ทั้งที่มีชีวิตอยู่ และมรณะไปแล้ว
          คุณธรรมที่เบากว่านั้น เช่นทาน การให้ ศีล รักษาวาจาใจให้สงบจากเวร สมาธิรักษาใจให้สงบ
จากอกุศล ๕ ประการ  คือ โลภะ ความโลภ โทสะ ความคิดประทุษร้าย ถีนมิทธะ ความเคลิบเคลิ้ม
ที่ขาดสติสัมปชัญญะ และความง่วงเหงาหาวนอนในเวลาทำความดี อุทธัจจกุกกจุจะ อารมณ์หงุดหงิด
ฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ  วิจิกิจฉา ความสงสัยในผลของการปฏิบัติธรรม และปัญญา คือการฝึก
วิปัสสนาญาณเบื้องต้น

          คุณธรรมขนาดเบา ๆ นี้ ก็มีผลมากแก่ผู้ปฏิบัติ เพราะ          ก. ทาน การให้  เป็นคุณธรรมที่ทำลายอารมณ์โลภอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็นเหตุ
แห่งความรักความเสน่หาของผู้รับทาน  คนที่ให้ทานเป็นปกติ  ย่อมเป็นที่รักของผู้รับทานทั่วไป เป็น
เหตุให้ปลอดภัยจากอันตราย
          ข. ศีล  เมื่อรักษาดีแล้ว  ย่อมมีอานิสงส์ดังนี้  ศีลผู้รักษาไว้ดีแล้วย่อมเป็นที่รักของปวงชน
เพราะผู้รักษาศีลมีเมตตาเป็นปกติ  และจะมีชื่อเสียงในด้านความดีฟุ้งขจรไปทุกทิศ เมื่อเวลาใกล้
จะตายจะมีสติสมบูรณ์  เมื่อตายแล้วจะได้ไปสู่สุคติ
          ค. สมาธิ ย่อมส่งผลให้เป็นคนมีสติสมบูรณ์ และเป็นที่รักแก่ชนทั่วไป เพราะท่านที่ทรงสมาธิ
ย่อมกำจัดเวร คือ อกุศล ๕ ประการ มีโลภะเป็นต้นเสียได้
          ฆ. วิปัสสนาญาณ มีอานิสงส์ทำจิตใจให้มีความสุข เพราะจิตเคารพต่อกฎของธรรมดา เพราะ
รู้แจ้งเห็นจริงตามกฎธรรมดาทุกประการ หมดความหวั่นไหวในทุกข์ภัยที่ปรากฏ มีอารมณ์สงัดเยือกเย็น
เป็นปกติ คล้ายต้นไม้ที่ไม่มีลมร้ายมาถูกต้องฉะนั้น

          ในข้อนี้ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงคุณของพระธรรมตามที่กล่าวมาโดยย่ออย่างนี้  หรือท่านจดจำ
พระสูตร คือคำสอนที่ยกตัวบุคคล แล้วจะคิดตามนั้น หรือท่านจะคิดตามพระธรรมข้อใดก็ได้ตามใจชอบ
เป็นระลึกถึงคุณพระธรรมตามข้อนี้เหมือนกัน เพราะบทสวากขาโตนี้ท่านกล่าวรวม ๆ เข้าไว้
          ๒. สันทิฏฐิโก แปลว่า ผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง หมายความว่าผลของการปฏิบัติธรรมนี้
ไม่ใช่จะปฏิบัติกันไปตามเรื่อง ผลของการปฏิบัติธรรมนี้เป็นความสุขใจ ท่านปฏิบัติจริงจะได้รับผลจริง
ในชาตินี้
          ๓. อกาลิโก แปลว่า ไม่เลือกกาลไม่เลือกสมัย หมายถึงผลของการปฏิบัติธรรมนี้ ได้รับ
ผลทุกขณะที่ปฏิบัติ ไม่จำกัดกาลเวลาว่า จะต้องเป็นเวลานั้นเวลานี้ ตัวอย่างเช่นผู้ปฏิบัติธรรมในด้าน
พรหมวิหาร ท่านที่ทรงพรหมวิหาร ย่อมประทานความรักให้แก่คนและสัตว์ไม่เลือกหน้า ท่านไม่ถือ
โกรธใครพบคนควรไหว้ท่านก็ไหว้  พบคนควรให้ท่านก็ให้ ท่านมีหน้ายิ้มตลอดเวลา ท่านลองคิดดูว่า
ถ้าท่านพบคนอย่างนี้เข้า ท่านควรจะรักเคารพหรือท่านควรจะคิดประทุษร้าย ขอให้ท่านคิดเอาเอง
ผลของการปฏิบัติธรรมได้ผลไม่จำกัดกาลเวลาอย่างนี้ และในสมัยนี้มีคนพูดกันมานานว่า เวลาล่วงมา
ขณะนี้พระอริยะไม่มีแล้ว ท่านอย่าเชื่อเขาเลย เพราะคุณของพระธรรมยืนยันอยู่อย่างนี้ว่า ผลแห่งการ
บรรลุมีได้ไม่เลือกกาลเวลา ขอให้ปฏิบัติจริง ปฏิบัติตรงตามคำสั่งสอนเถอะ และปฏิบัติพอดี อย่า
เกียจคร้านเกินไปและอย่าขยันเกินไป รับรองว่าท่านต้องการคุณธรรมขนาดไหน ก็มีหวังได้ทุกขนาด
และไม่จำกัดกาลเวลา
          ๔. เอหิปัสสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู ข้อนี้ท่านกล้าท้าทายว่า การปฏิบัติธรรมนั้น
ของท่านกล้ายืนยันผล ขอให้ทำถูก ทำตรง ทำพอดีเถอะ ท่านรับรองผลว่า ต้องได้รับผลแน่นอน
ขออย่างเดียว ขอให้เอาจริงเท่านั้น อย่าทำแบบสุกเอาเผากิน คนไม่จริงพระธรรมท่านก็ไม่จริงด้วย
ถ้าผู้ปฏิบัติจริง ผลของพระธรรมท่านก็ให้จริง ขอให้จริงต่อจริงพบกันเถอะ แล้วจะได้รับผลสมความ
มุ่งหมาย
          ๕. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา ท่านหมายความว่า ผู้หวังผล คือความสุขทางใจ
สุขทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไปแล้ว  เชิญเข้ามาฝึกได้ ไม่จำกัดกาลเวลา  ไม่จำกัดเพศและวัย
ไม่จำกัดเชื้อชาติ สัญชาติ และศาสนา ถ้าเข้ามาจริง ปฏิบัติจริง ท่านรับรองว่าต้องได้ผลจริง
          ๖. ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ แปลว่า อันวิญญูพึงรู้เฉพาะตน คำว่า วิญญู หมายถึง
ท่านผู้รู้  คือผู้ปฏิบัติที่ได้รับผลแล้ว ท่านผู้นั้นจะรู้ผลเองว่า การปฏิบัติพระธรรมนี้มีผล คือความสุข
อันประณีต และมีความเยือกเย็นใจเป็นพิเศษ มีความสุขประณีตกว่าความสุขอันเกิดขึ้นจากโลกวิสัย
หลายพันล้านเท่า
(บทพระธรรมคุณ คือธัมมานุสสติ ขออธิบายแต่โดยย่อเพียงเท่านี้)

๓. สังฆานุสสติกรรมฐาน
          สังฆานุสสติกรรมฐาน  แปลว่า ตั้งอารมณ์ให้เป็นการเป็นงานในการระลึกถึง
คุณพระสงฆ์ 
เป็นอารมณ์ การระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์นี้ ท่านให้คิดถึงความดีของพระสงฆ์
ในส่วนที่เป็นความดีอันเป็นเนื้อแท้ของพระศาสนา ไม่ใช่คิดถึงความดีอันเป็นส่วนประกอบที่ไม่เข้าถึง
พระศาสนา เช่น เห็นว่าท่านมีเครื่องรางของขลัง คือของคงกระพันชาตรี ท่านเป็นหมอรดน้ำมนต์
ท่านให้หวยเก่ง ท่านเป็นหมอดูแม่น ท่านทำเสน่ห์เก่ง ท่านเล่นหมากรุกเก่ง ท่านมีวิทยาคมต่างๆ
เช่น เสกอะไรต่ออะไรเก่ง ความเก่งอย่างนั้นของท่านเป็นความเก่งนอกความหมายในที่นี้ เพราะ
เป็นความเก่งที่ยังไม่เข้าถึงจุดเก่งทางศาสนา เป็นความเก่งเปลือกที่ยังเอาตัวไม่รอดยังไม่ควรจะ
เอามาคิดมานึกให้เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน ความเก่งในการที่นักกรรมฐานควรเอามาคิด
ก็คือ
          ๑. ท่านเก่งในทางปฏิบัติ จนได้บรรลุพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา พระอรหันต์ อย่างนี้
เป็นเนื้อแท้ของความเก่งในเนื้อแท้ของพระสาวกในพระพุทธศาสนาและเป็นความเก่งที่ควรบูชาและ
ระลึกถึงเป็นอารมณ์
          ๒. ความเก่งอีกอย่างหนึ่งของพระสงฆ์ที่ควรเอามาคิดเอามาบูชาก็คือ ท่านเองได้บรรลุ
มรรคผลแล้ว ท่านมิได้แสวงหาความสุขเพราะผลการบรรลุนั้น เฉพาะตัวท่าน ท่านกลับพลีความสุข
ที่ท่านควรได้รับนั้น นำพระธรรมคำสั่งสอนที่ท่านได้รับผลแล้ว มาสั่งสอนบรรดาพุทธบริษัท อย่างที่
ไม่เห็นแก่ผลตอบแทนใด ๆ

          การที่ระลึกถึงความดีของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามแบบก็คือ          ก. สุปฏิปันโน       ท่านเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว
          ข. อุชุปฏิปันโน      ท่านเป็นผู้ปฏิบัติตรง
          ค. ญายปฏิปันโน    ท่านปฏิบัติเป็นธรรม
          ง. สามีจิปฏิปันโน   ท่านเป็นผู้ปฏิบัติสมควร
          ทั้งนี้หมายความว่า ท่านปฏิบัติดี  ปฏิบัติตรง ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนจริง ๆ ไม่แก้ไข
ดัดแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ท่านปฏิบัติสมควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง เพราะท่านปฏิบัติตนจนได้
บรรลุมรรคผลที่บุคคลธรรมดาไม่สามารถจะเห็นได้ การบูชาและระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ต้องระลึก
ตามตามนัยนี้ จึงจะตรงตามความประสงค์ของพระพุทธเจ้า
          ตามที่ท่านสอนให้เจริญใน พุทธานุสสติ  ธัมนานุสสติ  สังฆานุสสติ ก็เพื่อให้คิดตามความดี
ของพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เพราะการคิดตามความดีของท่านที่มีความดีอยู่เสมอๆ
จนขึ้นใจนั้น  เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นในผลของความดี  และปสาทะ  ความเลื่อมใส  ปีติ
ความเอิบอิ่มใจ ความคิดคำนึงอย่างนี้เป็นปกติตลอดไป ย่อมเป็นเครื่องจูงใจให้ปฏิบัติตาม  เมื่อใดได้
ลงมือปฏิบัติตามแล้ว  ผลที่มีศรัทธาอยู่แล้ว  ย่อมเป็นกำลังใจให้ได้สำเร็จมรรคผลได้อย่างไม่มีอะไร
เป็นเครื่องหนักใจนัก
(ขอยุติสังฆานุสสติโดยย่อแต่เพียงเท่านี้)

๔. สีลานุสสติกรรมฐาน
          สีลานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงคุณศีลเป็นอารมณ์ คำว่าศีล  แปลว่า ปกติ สิกขาบทของ
ศีล เป็นสิกขาบทที่บังคับให้เป็นไปตามปกติของความรู้สึกและพอใจของมวลชนโลก ทั้งที่เป็นสัตว์
และมนุษย์ จะได้พูดให้ฟังแต่โดยย่อ
          ปกติของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมาร่วมโลกนี้ แม้จะต่างชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา  ต่างเพศ
ต่างตระกูลกันเพียงใดก็ตาม สิ่งที่มีความปรารถนาเสมอกันเป็นปกติ มีอยู่ ๕ ข้อ คือ
          ๑. ไม่ต้องการให้ใครมาฆ่าตน และไม่ปรารถนาให้ผู้ใดมาทำร้ายร่างกาย แม้ไม่ถึงตาย
ก็ตาม
          ๒. ไม่ต้องการให้ใครมาลักขโมย หรือยื้อแย่ง หลอกลวงเอาทรัพย์ของตนไปโดยที่ตนไม่
เต็มใจอนุญาต
          ๓. ไม่มีความประสงค์ให้ใครมาทำลายหัวใจในด้านความรัก จะเป็นสามีภรรยา บุตร หลาน
หรือแม้แต่คนในปกครองที่มิใช่บุตรหลาน โดยที่ตนเองยังไม่เห็นชอบด้วย
          ๔. ไม่ปรารถนาให้ใครมาใช้วาจาที่ไม่ตรงความจริง ในเมื่อในขณะนั้นต้องการรู้เรื่องราว
ตามความเป็นจริง
          ๕. ไม่ต้องการให้ใครเห็นว่าตนเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ  ด้วยอาการที่เป็นคนคุ้มดีคุ้มร้ายเพราะ
เหตุใดก็ตาม

          เมื่อความต้องการของปวงชาวโลกทั้งที่เป็นมนุษย์และสัตว์ มีความปรารถนาเสมอกันเป็น
ปกติอย่างนี้  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทตามความต้องการเป็นปกติของ
ชาวโลกไว้ ๕ ข้อ ที่เรียกว่า  ศีล ๕ หรือปกติศีล
          ส่วนศีล ๘ หรือเรียกว่าศีลอุโบสถ มีสิกขาบท ๘ เหมือนกันหรือศีล ๑๐ ของสามเณร ศีล
๒๒๗ ของพระ ศีล ๓๑๑ ของนางภิกษุณี ก็เป็นศีลที่บัญญัติตามปกติของท่านนั้นๆ
          การที่ท่านสอนให้ระลึกถึงศีลเนืองๆ นั้น หมายถึงให้สำรวมใจ ระมัดระวังความประพฤติศีล
เพื่อมิให้ศีลบกพร่อง เพราะศีลเป็นบาทที่จะสนับสนุนใจให้เข้าถึงสมาธิ ศีลนี้ผู้ใดปฏิบัติไม่ขาดตกบก-
บกพร่องแล้วย่อมมีอานิสงส์คือ จะไม่ได้รับความเดือดร้อน เพราะอำนาจอกุศลกรรมจะเป็นที่รักของ
ปวงชน จะมีเกียรติคุณความดีฟุ้งไปในทิศานุทิศ จะเป็นผู้แกล้วกล้าอาจหาญ ในเมื่อมีคนโจษจันถึง
เรื่องศีล เมื่อใกล้จะตายอารมณ์จิตจะผ่องใส อกุศลกรรมไม่สามารถเข้ามาข้องได้ เมื่อตายแล้วจะได้
เกิดในสวรรค์ ก่อนตายศีลนี้จะเป็นสะพานใหญ่ให้อารมณ์สมาธิหลั่งไหลมาสู่จิต จะทำให้จิตตั้งมั่นใน
สมาธิ เป็นพื้นฐานให้ได้วิปัสสนาญาณ ได้ถึงพระนิพพานในที่สุด ท่านที่คิดถึงศีลและระมัดระวังรักษา
ศีลเป็นปกติ แล้วใคร่ครวญพิจารณาศีลเป็นปกติอย่างนี้ ท่านว่าจะมีอารมณ์สมาธิถึงอุปจารสมาธิ และ
อัปปนาสมาธิเป็นที่สุด
          เมื่อเข้าถึงสมาธิตามที่กล่าวแล้ว ถ้าท่านน้อมเอาวิปัสสนาญาณมาพิจารณา ท่านก็จะได้
บรรลุมรรคผลภายในไม่ช้า
(ขอยุติสีลานุสสติไว้แต่โดยย่อเพียงเท่านี้)
 
๕. จาคานุสสติกรรมฐาน
          จาคานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงการบริจาคทานเป็นนิตย์ กรรมฐานกองนี้ท่านแนะให้ระลึก
ถึงการให้เป็นปกติ ผลของการให้เป็นการตัด มัจฉริยะ ความตระหนี่ ตัดโลภะ ความโลภ ซึ่งจัดว่าเป็น
กิเลสตัวสำคัญไปได้ตัวหนึ่ง กิเลสประเภทรากเหง้าของกิเลสมีสาม คือ

          ๑. ความโลภ
          ๒. ความโกรธ
          ๓. ความหลง
          ความโลภ ท่านสอนไว้ว่า ตัดได้ด้วยการบริจาคทาน เพราะการบริจาคทานเป็นการเสียสละที่มี
อารมณ์จิตประกอบด้วยเมตตา การให้ทานที่ถูกต้องนั้น ท่านสอนให้ ๆ ทานด้วยความเคารพในทาน คือ
ให้ด้วยความเต็มใจและให้ด้วยอาการสุภาพ ก่อนจะให้ให้ทำความพอใจ มีความยินดีในเมื่อมีโอกาสได้
ให้ โดยคิดว่า ขณะนี้เราได้มีโอกาสทำลายล้างโลภะ ความโลภ อันเป็นรากเหง้าของกิเลสได้แล้ว มหา-
ปุญญลาโภ บัดนี้ลาภใหญ่มาถึงเราแล้ว คิดแล้วก็ให้ทานด้วยความเคารพในทาน ผู้รับนั้นจะเป็นใคร
ก็ตาม จะเป็นผู้มีร่างกายบริบูรณ์ หรือทุพพลภาพก็ตาม  ขอให้มีโอกาสได้ให้ก็ปลื้มใจแล้ว เมื่อให้ทาน
ไปแล้วทำใจไว้ให้แช่มชื่นเป็นปกติเสมอ  เมื่อมีโอกาสได้คิดถึงทานที่ตนให้โดยคิดตามความเป็นจริงว่า
          การให้ทานนี้  ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นของดีนั้น เราเห็นความดี
แล้วดังนี้ ในชาติปัจจุบันผลทานนี้ย่อมให้ความสุขแก่ผู้รับทาน เพราะผู้รับมีโอกาสเปลื้องทุกข์ของตน
ได้ด้วยทานที่เราให้ สำหรับเราผู้ให้ ก็มีโอกาสได้รับผลในปัจจุบันคือ ได้มีโอกาสทำลายโลภะ ความโลภ
ตัวกิเลสที่ถ่วงไม่ให้ถึงนิพพาน  บัดนี้เราตัดความโลภคือรากเหง้าของกิเลสตัวที่ ๑ ได้แล้ว ความเบา
ได้เกิดมีแก่เราแล้ว ๑ เปลาะ คงเหลือแต่ความโกรธและความหลง ซึ่งเราจะพยายามตัดต่อไป ทานยัง
ให้ผลต่อไป คือผลทาน เป็นผลสร้างมิตร สร้างความสุขสงบ เพราะผู้รับทานย่อมรู้สึกรัก และระลึกถึง
คุณผู้ให้อยู่เป็นปกติ ผู้รับทานย่อมพยายามโฆษณาความดีของผู้ให้ในที่ทุกสถาน เมื่อผู้ให้เป็นที่รักของ
ผู้รับแล้ว  ความปลอดภัยของผู้ให้ก็ย่อมมีขึ้นจากผู้รับทาน  เพราะผู้รับจะคอยป้องกันอันตรายให้ตาม
สมควร ยิ่งให้มาก คนที่รักก็ยิ่งมีมาก ความปลอดภัยก็มีมากขึ้นเป็นธรรมดา ผู้ให้ทานย่อมมีอานิสงส์
ที่ได้รับในชาติปัจจุบันอีกคือ  ย่อมมีโอกาสได้รับโชคลาภที่เป็นของกำนัล  เป็นเครื่องบำรุงเสมอ
ผู้ให้ทานเป็นปกติ จะไม่ขาดแคลนฝืดเคืองในเรื่องการใช้สอยเมื่อใกล้จะขาดมือ หรือมีความจำเป็นสูง
จะมีผลได้เป็นการชดเชยให้พอเหมาะพอดีแก่ความจำเป็นเสมอ  นี่พูดตามผลที่ประสบมาในชาติ
ปัจจุบัน สำหรับอนาคตท่านว่าผู้ที่บำเพ็ญทานเสมอ ๆ นั้น  จิตใจจะชุ่มชื่นแจ่มใสเมื่อใกล้จะตาย
เมื่อตายแล้วทานจะส่งผลให้ไปเกิดในสวรรค์  มีทิพยสมบัติมากมาย ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นมนุษย์
ที่บริบูรณ์พูนสุขด้วยสมบัติ นี่ว่ากันตามอานิสงส์
          พูดกันตามความประสงค์แล้ว การระลึกถึงทาน ก็มุ่งทำลายล้างโลภกิเลสเป็นสำคัญท่านสอนให้
คิดนึกถึงทานที่ให้แล้วไว้เสมอ ๆ และทำความปลื้มใจในการให้และคิดไว้อีกเช่นเดียวกันว่าเราพร้อม
ที่จะให้ทานตามกำลังศรัทธาทุกโอกาสที่มีคนมาขอ  เพราะเราต้องการทำลายโลภะให้สิ้นไปเพื่อผล
ใหญ่ที่จะพึงได้  คือพระนิพพานในกาลต่อไป
          ท่านที่ยินดีในทานเป็นปกติอย่างนี้จิตย่อมบริบูรณ์ด้วยเมตตาและกรุณาอันเป็นพรหมวิหาร
ท่านว่าเพราะผลทานและพรหมวิหารร่วมกันมีบริบูรณ์แล้วจิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ  ต่อนั้นไปถ้าได้
เจริญวิปัสสนาญาณ โดยใช้อุปจารฌานเป็นบาทแล้วจะได้บรรลุมรรคผลได้อย่างฉับพลัน
                         (จบจาคานุสสติโดยย่อไว้เพียงเท่านี้)

๖. เทวตานุสสติกรรมฐาน 

          เทวตานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์  ความจริงทางศาสนาเรานี้
พระพุทธเจ้ายอมรับนับถือเรื่องเทวดา พระองค์เองทรงปรารภแก่บรรดาพุทธสาวกเรื่องเทวดาเสมอ
ขอให้ดูตามพุทธประวัติจะพบว่า พุทธศาสนาไม่เคยห่างเทวดาเลยจะเขียนให้ละเอียด ในที่นี้ก็เกรง
จะเฟ้อเกินไปขอย้ำว่า พระพุทธศาสนายอมรับนับถือว่าเทวดามีจริง และยอมรับนับถือความดี
ของเทวดาด้วย 
พระพุทธเจ้าถึงกับตรัสให้พุทธบริษัทที่มีบารมียังอ่อน ให้ระลึกถึงความดีของเทวดา
เป็นปกติ เช่น กรรมฐานข้อที่ว่าด้วย เทวตานุสสติ ก็เป็นพระพุทธพจน์ของพระพุทธเจ้าสอนให้คิดถึง
ความดีของเทวดา

ความดีของเทวดา


          เทวดา แปลว่า ผู้ประเสริฐ ความประเสริฐของเทวดามีอย่างนี้ ถ้าพูดกันตามความนิยมแล้วท่าน
ที่จะเป็นเทวดาก็ต้องเกิดเป็นคนก่อน เมื่อเป็นคนก็ต้องศึกษาหลักสูตรของเทวดาว่าจะเป็นเทวดานั้นต้อง
เรียนรู้และปฏิบัติอะไรบ้าง หลักสูตรที่ทำคนให้เป็นเทวดานั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า มี ๒ แบบ คือ

เทวดาประเภทที่ ๑

          เทวดาแบบที่  ๑  เป็นเทวดาชั้นกามาวจร  คือ ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์  ชั้นยามา ชั้นดุสิต
ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัสดี รวม ๖ ชั้นด้วยกัน ทั้ง ๖ ชั้นนี้ บวกภูมิเทวดาที่เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่
และรุกขเทวดา พวกเทวดาที่มีวิมานอยู่ตามสาขาของต้นไม้  ที่เรียกว่านางไม้ เข้ากับเทวดาชั้นจาตุ-
มหาราช เทวดา ๖ ชั้นนี้ ท่านว่าใครจะไปเกิดในที่นั้น ๆ เพื่อเป็นเทวดา ต้องศึกษาและปฏิบัติตามเทวดา
หลักสูตรเสียก่อน คือท่านให้เรียนรู้เทวธรรมที่ทำตนให้เป็นเทวดา ได้แก่

          ๑. หิริ ความละอายต่อความชั่วทั้งหมด ไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
          ๒. โอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่วจะลงโทษ ไม่ยอมประพฤติชั่วทั้งกายวาจาใจ ทั้งใน
ที่ลับและที่แจ้ง
          ทั้งนี้ก็หมายความว่าต้องเป็นคนมีศีลบริสุทธิ์เป็นปกติ และมีจิตเมตตาปรานี ตลอดกาลตลอดสมัย
ถึงแม้ยังไม่ได้ฌานสมาบัติก็ไม่เป็นไร เอากันแค่ศีลบริสุทธิ์ มีจิตเมตตาปรานีใช้ได้ ท่านว่าใครศึกษา
และปฏิบัติหลักสูตรนี้ได้ครบถ้วน เกิดเป็นเทวดาได้ ปฏิบัติได้อย่างเลิศ ก็เป็นเทวดาชั้นเลิศ ถ้าปฏิบัติได้
อย่างกลางก็เป็นเทวดาปานกลาง ถ้าปฏิบัติได้ครบแต่หยาบ ก็เป็นเทวดาเล็ก ๆ  เช่น ภูมิเทวดา หรือ
รุกขเทวดา  พระพุทธเจ้าท่านตรัสหลักสูตรของเทวดาประเภทที่  ๑ ไว้อย่างนี้ ท่านผู้อ่านจงจำไว้ให้ขึ้นใจ
จะได้ไม่สงสัยเรื่องเทวดา

เทวดาประเภทที่ ๒ 

          เทวดาประเภทที่ ๒ นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า "พรหม" ท่านจัดพรหมรวมหมด ๒๐ ชั้น
ด้วยกัน ท่านแยกประเภทไว้ดังนี้

รูปพรหมมี ๑๖ ชั้น

          รูปพรหม คือ พรหมที่มีรูปนี้ ท่านแบ่งไว้เป็น ๑๖ ชั้น แยกออกเป็น ๒ ประเภท คือ พรหมที่ได้
ฌานโลกีย์ ท่านจัดไว้ ๑๑ ชั้น กับพรหมที่เป็นพระอนาคามี และได้ฌาน ๔ ด้วย ๕ ชั้น รวมพรหมที่มี
รูป ๑๖ ชั้น

อรูปพรหม ๔ ชั้น

          พรหมที่ไม่มีรูปนี้ เป็นโลกียพรหม มีหมดด้วยกัน  ๔  ชั้น รวมพรหมทั้งหมด  ๒๐  ชั้นพอดี

หลักสูตรที่จะไปเป็นพรหม

          การที่จะเกิดเป็นพรหม ต้องศึกษาและฝึกตามหลักวิชชาให้ได้ครบถ้วนเสียก่อน ถ้าสอบตก
เป็นไม่มีทางได้เกิดเป็นพรหม  จะยัดเงินอุดทอง วิ่งเข้าหาเทวดาหรือพรหมองค์ใดให้ช่วยนั้นไม่มีหวัง
ต้องใช้ความสามารถจริง ๆ จึงจะไปได้ การสอบเป็นเทวดาหรือพรหมไม่มีคอรัปชั่น ท่านสอนกันอย่างนี้
เดี๋ยวก่อน ก่อนบอกวิธีสอบ ขอบอกไว้ด้วยว่า กรรมการตรวจสอบนั้นไม่มี ต้องตรวจเองสอบเอง ถ้าสอบ
ได้ก็เป็นพรหมทันที ถ้าสอบไม่ได้อาจต้องเป็นคนอยู่ต่อไป หรือเป็นเทวดา หรือไม่ก็ลงนรกไปเลยสุดแล้ว
แต่ใครจะมีกรรมอะไรเป็นเครื่องส่ง ก่อนจะพูดถึงหลักสูตรพรหม ขอพูดถึงหลักสูตรต่ำไปหาพรหมก่อน
เพราะจะได้รู้ไว้เป็นเครื่องประดับ

หลักสูตรอบายภูมิ

          อบายภูมิหมายถึงดินแดน  นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดียรัจฉาน ใครจบหลักสูตรนี้ จะได้
ไปเกิดในที่ ๔ สถานนี้ หลักสูตรนี้มีดังนี้ คือไม่รักษาศีล ไม่ให้ทาน ไม่เคารพคนที่ควรเคารพ เท่านี้ไป
เกิดในอบายภูมิได้สบาย ไม่มีใครขัดคอ

หลักสูตรเกิดเป็นมนุษย์

          หลักสูตรมนุษย์นี้ ท่านเรียกมนุษยธรรม  คือธรรมที่ทำให้เกิดเป็นมนุษย์มี ๕ อย่าง คือ
          ๑. ไม่ฆ่าสัตว์ และไม่ทรมานสัตว์ให้ลำบากด้วยเจตนา
          ๒. ไม่ถือเอาของของผู้อื่นที่เขาไม่อนุญาตให้ ด้วยเจตนาขโมย
          ๓. ไม่ละเมิดสิทธิในกามารมณ์ที่เจ้าของไม่อนุญาต คือไม่ละเมิดภรรยา สามี  ลูก หลาน
และคนในปกครอง ที่ผู้ปกครองไม่อนุญาต
          ๔. ไม่พูดปด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกร้าวกัน ไม่พูดเพ้อเจ้อ โดยไร้สาระ
          ๕. ไม่ดื่มสุราและเมรัย ที่ทำจิตใจให้มึนเมาไร้สติสัมปชัญญะ

          ตามหลักสูตรนี้ ถ้าใครสอบได้ คือปฏิบัติได้ครบถ้วนท่านว่าตายแล้วเกิดเป็นมนุษย์ได้

หลักสูตรรูปพรหม

          ๑. ได้ฌานที่  ๑  เกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๑,  ๒,  ๓
          ๒. ได้ฌานที่  ๒  เกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๔, ๕,  ๖
          ๓. ได้ฌานที่  ๓  เกิดเป็นพรหมชั้นที่  ๗, ๘, ๙
          ๔. ได้ฌานที่  ๔  เกิดเป็นพรหมชั้นที่ ๑๐, และ ๑๑
          ทั้งหมดนี้เป็นพรหมชั้นโลกีย์

หลักสูตรรูปพรหมอนาคามี

          พรหมอีก ๕ ชั้นคือชั้นที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖  รวม  ๕  ชั้นนี้ ต้องได้บรรลุมรรคผล
เป็นพระอนาคามีได้ฌาน ๔ มาก่อน

สำหรับอรูปพรหม ๔ ชั้น

          ท่านทั้ง ๔ ชั้นนี้ ท่านต้องเจริญฌานในกสิณแล้วเจริญอรูปฌาน  ๔ ได้อีกจึงจะมาเกิดเป็น
อรูปพรหมได้ แต่ท่านก็ได้เพียงฌานโลกีย์ ไม่ใช่พระอริยเจ้า
          หลักสูตรเทวดาและพรหมมีอย่างนี้  ท่านสอนให้ระลึกนึกถึงความดี คือคุณธรรมที่เทวดาและ
พรหมปฏิบัติมาแล้ว จนเกิดเป็นเทวดาหรือพรหมได้ ก็ชื่อว่าท่านได้รับผลความดีที่ท่านปฏิบัติมาแล้ว
ถ้าเราปฏิบัติอย่างท่าน เราก็อาจจะมีผลความสุขเช่นท่าน เพราะเทวดาขนาดเลวนั้น ดีกว่ามนุษย์ชั้นดี
อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลย เพราะเทวดามีกายเป็นทิพย์ มีที่อยู่เป็นทิพย์ ไปไหนก็เหาะไปได้ ไม่ต้อง
เหน็ดเหนื่อยเหมือนเรา ฉะนั้นความดีของเทวดานี้ ถึงจะยังไม่ถึงความดีในนิพพาน แต่ก็เป็นสะพาน
สำหรับปฏิบัติเพื่อผลในพระนิพพานได้เป็นอย่างดี ดีกว่ามาคิดว่าเทวดาไม่เป็นเรื่อง เทวดาไม่มี  เรา
เป็นพุทธสาวก เมื่อพระพุทธเจ้าท่านว่ามี เราก็ควรเชื่อไว้ก่อน แล้วสร้างสมาธิทำทิพยจักษุญาณให้เกิด
ตรวจสอบคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอีกครั้งหนึ่ง จะพบว่าที่ท่านสอนว่า เทวดา พรหม นรก สวรรค์
มีจริงนั้น ท่านสอนตรง ไม่ใช่สอนแบบยกเมฆ ท่านบูชาเทวดา ท่านอาจดีตามเทวดา แต่ท่านด่าเทวดา
ท่านอาจไม่ได้พบเทวดาเลย
          เทวตานุสสตินี้ ถ้าฝึกจนเกิดอุปจารฌานแล้ว ท่านเจริญวิปัสสนาญาณต่อ ท่านจะเข้าถึง
มรรคผลได้ไม่ยาก เพราะเป็นภูมิธรรมที่ละเอียด และมีแนวโน้มเข้าไปใกล้พระนิพพานมาก
(ขอยุติเทวตานุสสติไว้เพียงเท่านี้)

๗. มรณานุสติกรรมฐาน
          มรณานุสสติ แปลว่า นึกถึงความตายเป็นอารมณ์ เรื่องของความตายเป็นของธรรมดา
ของสัตว์และมนุษย์ที่เกิดมา เมื่อมีความเกิดมาได้แล้ว ก็ต้องตายในที่สุดเหมือนกันหมด ความตายนี้
รู้สึกว่าเป็นปกติธรรมดาของคนและสัตว์ทั่วไป ท่านผู้อ่านจะสงสัยว่า เมื่อความตายเป็นของธรรมดาที่
ใคร ๆ ก็ทราบว่าตัวจะต้องตาย แล้วพระพุทธเจ้ามาสอนให้นึกถึงความตายเพื่อประโยชน์อะไร ?
ปัญหาข้อนี้ตอบไม่ยากเพราะธรรมดาของคนที่มีกิเลสทั่วไป รู้ความตายว่าเป็นของธรรมดาจริง แต่
ทว่าเห็นว่าเป็นธรรมดาสำหรับผู้อื่นตายเท่านั้น ถ้าความตายจะเข้ามาถึงตนเองหรือญาติ คนที่รักของ
ตนเข้า ก็ดิ้นรนเอะอะโวยวาย ไม่ต้องการให้ความตายมาถึงตนหรือคนที่ตนรัก พยายามทุกทางที่จะ
ไม่ยอมตายปกติของคนเป็นอย่างนี้ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า เกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าใครจะหนีความตาย
ไม่ได้ การดิ้นรน เอะอะโวยวาย ต้องการให้ความตายไปให้พ้นนี้ เป็นการดิ้นรนเหนือธรรมดา ไม่มี
ทางทำได้สำเร็จ  จะทำอย่างไร ความตายก็ต้องจัดการกับชีวิตแน่นอน เมื่อกฎธรรมดาเป็นอย่างนี้
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอน คือย้ำตามความเป็นจริงว่า ภิกขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตายนั้นเป็น
สิ่งปกติธรรมดา ไม่มีใครจะหลีกหนีพ้น ความตายนี้แบ่งออกเป็นสามอย่างด้วยกัน คือ
          ๑. สมุจเฉทมรณะ  ความตายขาดตอน  หมายถึงความตายของพระอรหันต์ ท่านเสร็จกิจ
แห่งพรหมจรรย์  คือสิ้นกิเลสแล้ว เหตุที่จะต้องทำให้เกิด คือกิเลสและตัณหาที่จะควบคุมบังคับท่าน
ให้เกิดอีกไม่มี ท่านมรณะแล้วท่านไม่ต้องกลับมาเกิดอีก เรียกว่า สมุจเฉทมรณะ แปลว่าตายขาดตอน
ไม่กลับมาเกิดอีก
          ๒. ขณิกมรณะ แปลว่า ตายเล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านหมายเอาความตาย คือ ความดับ หรือการ
เคลื่อนไปของชีวิต ที่มีการเคลื่อนไปวันหนึ่ง ๆ วันเวลาล่วงไป ชีวิตก็เคลื่อนไปใกล้จุดจบสุดยอด คือ
ตายดับทุกขณะ การผ่านไปของชีวิตท่านถือเป็นความตาย คือ ตายทุกลมหายใจออก และเกิดต่อทุก ๆ
ลมหายใจเข้า อาหารเก่าที่บริโภคเข้าไปเป็นการหล่อเลี้ยงชีวิตชั่วคราว เมื่อสิ้นอำนาจของอาหารเก่า
ร่างกายต้องการอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงแทน แต่ถ้าไม่ได้อาหารใหม่เข้าไปทดแทน ชีวิตก็จะต้องดับ
ชีวิตที่ทรงอยู่ได้ ก็เพราะอาหารใหม่เข้าไปหล่อเลี้ยงไว้ เมื่อสิ้นสภาพของอาหารเก่า ท่านถือว่าร่างกาย
ต้องตายแล้วไปยุคหนึ่ง พอได้อาหารใหม่มาทดแทน ชีวิตก็เกิดใหม่อีกวาระหนึ่ง การเกิดการตาย
ต่อเนื่องกันทุกวันเวลาอย่างนี้ ถ้าอาหารเก่าหมดสภาพไม่บริโภคใหม่ หรือลมหายใจออกแล้วไม่หายใจ
เข้า สภาพของร่างกายก็จะสิ้นลมปราณ คือตายทันทีที่ทรงอยู่ได้อย่างนี้ก็เพราะได้ปัจจัยบางอย่างค้ำจุน
ทดแทนกันเข้าไป  ท่านสอนให้มองเห็นสภาพของสังขารร่างกายว่า มีความตายเป็นปกติทุกวันเวลา
อย่างนี้  ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ แปลว่า  ตายทีละเล็กละน้อย หรือตายเล็ก ๆ น้อย ๆ
          ๓. กาลมรณะ และ อกาลมรณะ กาลมรณะ แปลว่า ตายตามกาลตามสมัยที่ชาวโลกนิยม
เรียกว่า ถึงที่ตาย คือสิ้นอายุ อย่างชนิดที่ไม่มีการแก้ไขได้ อกาลมรณะ แปลว่า ตายในโอกาสที่ยังไม่ถึง
กาลควรตาย แต่ต้องตายเพราะกรรมบางอย่างที่เป็นอกุศลเข้ามาบีบคั้นให้ตาย การตายประเภทหลังนี้
พอมีทางต่อให้อายุยืนยาวต่อไปได้ตามสมควรแก่กรรมในอดีต จะต่อให้เลยพอดีนั้นไม่ได้ พวกตายตาม
แบบกาลมรณะ ตายไปแล้ว เสวยผลกรรมทันที แต่พวกที่ตายตามแบบอกาลมรณะนี้ ตายแล้วยังไม่ไป
เสวยผลกรรมทันที ต้องไปเป็นสัมภเวสี แสวงหาที่เกิดก่อน  คือ รอกาลที่จะถึงกาลมรณะก่อน เมื่อถึง
เวลาแล้วจึงจะได้รับผลกรรมดีและกรรมชั่วที่ทำไว้ ขณะที่ยังไม่ได้รับผลกรรมที่ทำไว้นั้น ต้องลำบากใน
เรื่องอาหารและที่อยู่ ท่องเที่ยวไปตามความต้องการ พวกตายแบบอกาลมรณะนี้ ที่ชาวโลกนิยมเรียกว่า
ตายโหงนั่นเอง เช่น ถูกฆ่าตาย คลอดลูกตาย รถทับตาย ฟ้าผ่าตาย ฆ่าตัวตาย งูกัดตาย  รวมความว่า
ตายแบบผิดปกติ ไม่ใช่ป่วยตายตามธรรมดาเรียกว่า อกาลมรณะ คือตายก่อนกำหนด ตายทั้งนั้น การ
ตายแบบนี้  ถ้ามีท่านผู้รู้ช่วยเหลือ สามารถช่วยให้พ้นตายได้ เช่น ที่นิยมเรียกกันว่า สะเดาะเคราะห์
หรือต่ออายุ การสะเดาะเคราะห์หรือต่ออายุนั้น ต้องทำโดยธรรมจริง ๆ และรู้จริงจึงใช้ได้แต่ถ้าต่อแบบ
หมอต่อยังมืดมนท์ด้วยกิเลสแล้วไม่มีทางสำเร็จผล ไม่ต่อดีกว่า ขืนต่อก็เท่ากับไปต่อชีวิตหมอให้มี
ความสุขส่วนผู้ต่อกลายเป็นผู้ต่อทุกข์ไป เรื่องต่ออายุนี้มีเรื่องมาในพระสูตรคือเรื่องของท่าน
อายุวัฒนสามเณร

เรื่องย่อดังนี้

          วันหนึ่ง บิดามารดาพาท่านเมื่อยังเกิดไม่กี่เดือนไปหาพระพุทธเจ้า (ขอเล่าลัด ๆ) เมื่อ
บิดาลาพระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า "ทีฆายุโก โหตุ"  แปลว่า ขอเธอจงมีอายุยืนนาน พอแม่เข้าลาท่าน
ก็ว่าอย่างนั้น ตอนท้าย สองผัวเมียให้ลูกชายกราบลาท่าน ท่านไม่พูด คือท่านเฉยเสีย สองผัวเมีย
แปลกใจถามว่า เมื่อเกล้ากระหม่อมฉันสองผัวเมียกราบลา พระองค์ให้พรว่า ขอเธอจงมีอายุยืนนาน
แต่พอเกล้ากระหม่อมฉันให้ลูกชายลา พระองค์ทรงนิ่ง เหตุอะไรจะมีแก่บุตรชายเกล้ากระหม่อมฉัน
ทั้งสองหรือพระพุทธเจ้าข้า
          พระองค์ตรัสตอบว่า เพราะบุตรชายของเธอจะตายภายใน ๗ วันนี้ ตถาคตจึงไม่กล่าวอย่างนั้น
สองผัวเมียฟังแล้วตกใจ ขอให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์สั่งให้ไปปลูกโรงพิธีกลางลานบ้านแล้วให้เอา
พระไปนั่งล้อมเด็กสวดพระปริตครบ ๗ คืน ๗ วัน พอวันที่ ๗ เป็นวันตายของเด็ก เพราะยักษ์จะมาเอา
ชีวิตวันนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จเอง เมื่อพระองค์เสด็จ พรหมและเทวดาผู้ใหญ่มามาก ยักษ์เข้าไม่ถึง
พอครบเวลาที่ยักษ์จะเอาชีวิต หมายความว่า ถ้าเลยเวลาเขาทำไม่ได้ เขาทำตามกฎของกรรมว่าจะ
ให้ตายเวลาเท่าใดเวลาเท่านั้น เขาจะต้องทำให้ได้ ถ้าเลยเวลาแล้วเขาก็ไม่ทำ พอเลยเวลาที่เด็กจะ
ต้องตาย พระพุทธเจ้าท่านก็พาพระกลับ เลิกพิธี ก่อนกลับพระองค์ให้พรแก่เด็กว่า ทีฆายุโกโหตุ
ต่อมาเด็กคนนั้นมาบวชเณรเมื่ออายุ ๗ ปี ได้สำเร็จพระอรหันต์ ท่านมีอายุครบ ๑๒๐  ปี จึงนิพพาน
          พวกอกาลมรณะนี้ ต่อได้อย่างนี้ แต่การต่อต้องเป็นผู้รู้จริง ทำถูกต้องจริง และการทำให้ต้องไม่
ปรารภสินจ้างรางวัล ทำเพื่อการสงเคราะห์จริงๆ จึงเกิดผลว่า จะพูดเรื่องตายเป็นกรรมฐานแอบมาเป็น
หมอต่ออายุเสียแล้ว ขอวกกลับไปเรื่องมรณานุสสติใหม่

นึกถึงความตายมีประโยชน์

          ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายจะได้แสวงหา
ความดีใส่ตัว โดยรู้ตัวว่าชาตินี้จนเพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่ยากจนอีก ก็พยายามให้
ทานเสมอ ๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้  และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอเหมาะพอดี
ไม่เดือดร้อนภายหลังนั่นแหละจึงจะควร
          รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอ ๆ ของหายบ่อย ๆ  รูปร่างสวยน้อยไป คนในบังคับ
บัญชาดื้อด้าน วาจาไม่ศักดิ์สิทธิ์  อารมณ์ความจำเสื่อม ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้สมบูรณ์ใน
ชาติหน้า จะได้พยายามรักษาศีล ๕ให้บริสุทธิ์ครบถ้วนแล้ว ก็จะได้รับอานิสงฆ์ มีอายุยืน รูปสวย ไม่มี
โรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนทรัพย์สมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใคร
ดื้อด้านมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรเป็นนั่น มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์
          ถ้าเห็นว่า มีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
พอมีฌานมีญาณเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ
          ถ้าเห็นว่า ความเกิดเป็นโทษเป็นทุกข์ เพราะการเกิด ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่ง
ประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต้องการความเกิดอีกก็
เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ซึ่งเป็นของไม่หนักเลย
สำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่าเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เพราะกรรมฐานกองนี้
เป็นกรรมฐานหลักสำหรับเจริญวิปัสสนาญาณ ท่านจะได้ดี เป็นเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอรหันต์ ก็ต้อง
อาศัยการปรารภความตายเป็นปกติ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์แม้แต่จะเป็น
พระพุทธเจ้า พระองค์ก็ไม่ทิ้งมรณานุสสติกรรมฐาน คือนึกถึงความตายเป็นอารมณ์ วันหนึ่งพระองค์
ตรัสถามพระอานนท์ว่า อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่ครั้ง พระอานนท์กราบทูล
ตอบว่า นึกถึงความตายวันละเจ็ดครั้งพระเจ้าข้า พระองค์ตรัสว่า ยังห่างมากอานนท์ ตถาคตนึกถึง
ความตายทุกลมหายใจเข้าออก การนึกถึงความตายเป็นปกติเป็นของดี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึง
ความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตายรู้ตัวว่าจะตายแล้วย่อมไม่สั่งสมความชั่ว คอยปลีกตัวออกจากความ-
ชั่วและมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดอยู่รู้อยู่เสมอแล้วว่า เราต้องตายแน่
ความตายนี้หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้ กำหนดการเกิดหมอบอกได้ แต่กำหนดเวลาตายไม่มีใครกำหนด
ได้แน่นอนสำหรับปุถุชนคนธรรมดา สำหรับพระอริยเจ้าหรือท่านที่ชำนาญในอานาปานุสสติกรรมฐาน
ท่านสามารถบอกเวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ พระอริยาเจ้าที่จะบอกเวลาตายได้  ก็ต้องเป็นท่านที่ได้
วิชชาสามเป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้น ท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกันท่านเปรียบ
ชีวิตไว้คล้ายกับขีดเส้นบนผิวน้ำ  ขีดพอปรากฏว่ามีเส้น แล้วในทันทีเส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไป ชีวิตของ
สัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกัน  ความตายรออยู่แค่ปลายจมูก ถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไร ก็สิ้นภาวะเมื่อนั้น
เอาความยั่งยืนไม่ได้เลย
           ท่านเจริญมรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็น
ปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์คือให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาพอสมควรแก่ความ
ต้องการแล้ว ถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่า ความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจแล้ว ความเกิดต่อไปก็
มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตามเต็มไปด้วยความทุกข์ หนีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิดอันเป็น
เหยื่อของวัฏฏะอีก แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหนยิ่ง จะต้องพังทลายเรายังไม่มีเยื่อใย ก็สมบัติอะไร
ในโลกีย์ที่เราต้องการ เราไม่ต้องการอะไรอีก เทวโลก พรหมโลก เราไม่ต้องการ สิ่งที่พอใจที่สุดก็คือ
พระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานเป็นปกติ อย่างนี้
ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันแน่นอน
(ขอยุติมรณานุสสติไว้แต่โดยย่อเพียงเท่านี้)

๘. กายคตานุสสติกรรมฐาน
          กายคตานุสสติ แปลว่า พิจารณากายให้เห็นว่า ไม่สวยไม่งาม มีความโสโครก
ตามกฎแห่งความเป็นจริงเป็นอารมณ์ กายคตานุสสตินี้เป็นกรรมฐานสำคัญที่พระอริยเจ้าทุกองค์
ไม่เคยเว้น เพราะพระอริยเจ้าก่อนแต่จะได้สำเร็จมรรคผล ทุกท่านนิยมพิจารณาให้เห็นว่าไม่สวย
ไม่น่ารัก น่ารังเกียจ เพราะมีสภาพน่าสะอิดสะเอียนตามปกติเป็นอารมณ์  และกายคตานุสสตินี้ เป็น
กรรมฐานพิเศษกว่ากรรมฐานกองอื่น ๆ เพราะถ้าพระโยคาวจรพิจารณาตามกฎของกายคตานุสสติ
ผลที่ได้รับจะเข้าถึงปฐมฌาน แต่ถ้ายึดสีต่าง ๆ ร่างกายที่ปรากฏมีสีแดงของเลือดเป็นต้น ยึดเป็น
อารมณ์ในการเพ่งเป็นกสิณ กรรมฐานกองนี้ก็มีผลได้ฌาน ๔ ตามแบบของกสิณ
          การพิจารณาท่านเขียนไว้ในวิสุทธิมรรควิจิตรพิศดารมาก จะไม่ขอกล่าวตามจนละเอียด
ขอกล่าวแต่เพียงย่อ ๆ พอได้ความ หากท่านนักปฏิบัติมีความข้องใจ หรือสนใจในความละเอียดครบ
ถ้วน ก็ขอให้หาหนังสือวิสุทธิมรรคมาอ่าน จะเข้าใจละเอียดมากขึ้น  ตามแนวสอนในวิสุทธิมรรคท่าน
ให้พิจารณาอาการ ๓๒ คราวละ ๕ อย่าง เช่น พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ รวม  ๕ อย่างเป็น
หมวดหนึ่ง ท่านให้พิจารณาตามลำดับและย้อนกลับ เช่น พิจารณาว่า เนื้อ หนัง  ฟัน เล็บ ขน ผม ย้อน
จากปลายมาต้น เรียกว่าปฏิโลม คือถอยกลับ ให้พิจารณาทั้งสีและสัณฐาน สภาพตามความเป็นจริงว่า
ไม่มีอะไรสวยงาม เพราะมีความสกปรกโสโครกอยู่เป็นปกติ ต้องคอยขัดสีฉวีวรรณอยู่เสมอ ๆ ทั้ง ๆ
ที่คอยประคับประคองอยู่เพียงใด สิ่งเหล่านี้ก็ยังจะมีการแปดเปื้อนสกปรกอยู่เสมอ เช่น ผมต้องคอยหวี
คอยสระชำระอยู่ทุกวัน ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจเพียง ๓ วัน เหงื่อไคลก็จะจับทำให้เหม็นสาบ เหม็นสาง
รวมกายทั้งกายนี้ ท่านแสวงหาความจริงจากกายทั้งมวลว่า มันสวยจริง สะอาดจริงหรือไม่ ค้นคว้าหา
ความจริงให้พบ กายทั้งกายที่ว่าสวยน่ารักนั้นมีอะไรเป็นความจริง ความสวยของร่างกายมีความจริง
เป็นอย่างนี้ ร่างกายทั้งกายที่ว่าสวยนั้น ไม่มีอะไรสวยจริงตามที่คิด เพราะกายนี้เต็มไปด้วยสิ่งโสโครก
คืออวัยวะภายใน มีตับ ไต ไส้น้อย ไส้ใหญ่ กระเพาะ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำดี อุจจาระ ปัสสาวะ
เหงื่อไคล ที่หลั่งไหลออกมาภายนอกนั้น ความจริงขังอยู่ภายในของร่างกาย ที่มีหนังกำพร้าหุ้มห่ออยู่
ถ้าลอกหนังออก จะเห็นร่างนี้มีเลือดไหลโทรมทั่วกาย เนื้อที่ปราศจากผิวคือหนังหุ้มห่อ จะมองไม่เห็น
ความสวยสดงดงามเลย ยิ่งมีเลือดหลั่งไหลทั่วร่างแล้ว ยิ่งไม่น่าปรารถนาเลย แทนที่จะน่ารัก น่า
ประคับประคอง กลับกลายเป็นของน่าเกลียด ไม่มีใครปรารถนาจะอยู่ใกล้ ถ้าลอกเนื้อออก จะแล
เห็นไส้ใหญ่ ไส้น้อย ปอด กระเพาะอุจจาระ กระเพาะปัสสาวะ และม้าม ไต น้ำเลือด น้ำเหลือง
น้ำหนอง เสลด หลั่งไหลอยู่ทั่วร่างกาย มองแล้วอยากจะอาเจียนมากกว่าน่ารัก ถ้าจะฉีกกระเพาะ
ออก ภายในกระเพาะจะพบอุจจาระ ปัสสาวะอยู่ภายใน เป็นภาพที่อยากหนีมากกว่าเป็นภาพที่น่ารัก
ถ้าเอาอวัยวะต่าง ๆ ออกหมด จะเห็นแต่ร่างโครงกระดูกที่มีสภาพเหมือนโครงบ้านเรือนตั้งตระหง่าน
อยู่ โครงกระดูกทั้งสองร้อยท่อนนี้ ปะติดปะต่อกันอยู่เป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่ มีเนื้อและเลือดติด
เกรอะกรัง ท่านคิดตามไป  ท่านเห็นหรือยังว่า ส่วนที่มีเปอร์เซ็นต์ที่เห็นว่า พอจะเป็นของสวยของงาม
มีนิดเดียวคือ ตอนหนังกำพร้าเท่านั้น  หนังนี้ใช่ว่าจะเกลี้ยงเกลาเสมอไปก็หาไม่ ต้องคอยชำระล้าง
ตลอดวันและเวลาเพราะสิ่งโสโครกภายในพากันหลั่งไหลมาลบเลือนความผุดผ่องของผิวตลอดวัน
ถ้าไม่คอยชำระล้าง เจ้าตัวปฏิกูลนั้นก็จะพอกพูนเสียจนเลอะเทอะ แถมจะส่งกลิ่นเหม็นสาบเหม็นสาง
ตลบไปทั่วบริเวณช่องทวาร อุจจาระ ปัสสาวะ ก็จะพากันหลั่งไหลออกมาตามกำหนดเวลาที่มันต้อง
ออก สิ่งที่น่าคิดก็คือ ผู้นิยมตนเองว่าสวย หรือเทิดทูนใครก็ตามว่าสวย  ต่อเมื่อสิ่งโสโครกหลั่งไหล
ออกมาเขากลับไม่สนใจ ไม่พยายามมองหาความจริงจากของจริง  กลับรอให้ชำระล้างสิ่งโสโครก
เสียก่อน จึงใคร่ครวญและสนใจ ต่างคนต่างพยายามหลบหลีก ไม่รับรู้ความเป็นจริงของสังขารร่างกาย
ในส่วนที่สกปรกโสโครก ทั้งนี้ เพราะกิเลสและตัณหาปกปิดความจริงไว้  ทั้งๆ ที่อุจจาระหลั่งไหลออกมา
ทุกวัน เหงื่อไคลมีเสมอ เสมหะน้ำลายออกไม่เว้นแต่ละนาที แต่เจ้ากิเลสและตัณหามันก็พยายาม
โกหกมดเท็จ ปัดเอาความจริงออกมาจากความรู้สึก  หากทุกคนพยายามสอบสวน ทบทวนความรู้สึก
ค้นคว้าหาความจริง  ยอมรับรู้ตามกฎของความจริงว่า สังขารร่างกายนี้ไม่มีอะไรน่ารัก มีสภาพเป็น
ส้วมเคลื่อนที่ เพราะภายในมีสิ่งโสโครกต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาแล้ว ถ้าเรารัก เราก็รักส้วม ถ้าเรา
ประคับประคองเราก็ประคับประคองส้วม ถ้าเราเทิดทูน เราก็เทิดทูนส้วม จะว่าส้วมปกติเลวแล้ว
ความจริงส้วมปกติดีกว่าส้วมเคลื่อนที่มาก เพราะส้วมปกติมันตั้งอยู่ตามที่ของมัน มันไม่ไปรบกวน
ใคร  เราไม่เดินเข้าใกล้ มันก็ไม่มาหาเรา ไม่รบกวนไม่สร้างทุกข์ ไม่หลอกหลอน ไม่ยั่วเย้ายียวน
ชวนให้เกิดราคะ แต่เจ้าส้วมเคลื่อนที่นี่มันร้ายกาจ เราไม่ไปมันก็มา เราไม่มองดูมันก็พูดให้ได้ยิน
เสแสร้งแกล้งตกแต่งปกปิดสิ่งที่น่าเกลียดด้วยสีผ้าที่หลาก กลบกลิ่นเหม็นด้วยกลิ่นหอม หาอาภรณ์
มาประดับ เพื่อปกปิดพรางตากันเห็นสิ่งที่ไม่น่าชม เพื่อตาจะได้หลงเหยื่อติดในอาภรณ์เครื่องประดับ
ผู้เห็นที่ไร้การพิจารณา  และมีสภาพเป็นส้วมเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน เป็นส้วมที่ไร้ปัญญาเหมือนกัน
ต่างส้วมต่างก็หลอกหลอนกัน ปกปิดสิ่งโสโครกมิให้กันและกันเห็นความจริงทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีครบถ้วน
แทนที่จะเห็นตัว รู้ตัวว่า ข้านี้ก็เป็นผู้เลิศในความเหม็น เลิศในส่วนของความสกปรกเหมือนเธอ
แทนที่จะเป็นอย่างนั้นกลับปกปิดพยายามชมตนเองว่า ฉันนี่แหละยอดผู้ศิวิไลซ์ละ อนิจจา น่าสงสาร
สัตว์ผู้เมาไปด้วยกามราคะ มีอารมณ์หน้ามืดตามัวเพราะอำนาจกิเลสแท้ ๆ ถ้าเขาจะมองตัวเองสักนิด
ก็จะเห็นตัวเอง และจะมองเห็นผู้อื่นตามความเป็นจริง พระอริยเจ้าท่านนิยมความจริง รู้จริง เห็นจริง
ค้นคว้าจริง ไม่หลอกหลอนตนเอง ท่านจึงได้บรรลุมรรคผล เพราะพิจารณาตนเองเป็นส่วนใหญ่ ขอท่าน
นักปฏิบัติเพื่อความสุขของตัวทั้งหลาย จงพิจารณาตนเองให้เห็นชัด จนได้นิมิตเป็นปฏิภาคนิมิต สร้าง
สมาธิให้เป็นอัปปนาสมาธิ โดยพิจารณาสังขารให้เห็นว่าไม่สวยงามนี้ เมื่อถึงอัปปนาสมาธิแล้ว จงยึดสี
ที่ปรากฏในร่างกายมีสีแดงเป็นต้นหรือจะเป็นสีอะไรก็ได้ยึดเอาเป็นอารมณ์กสิณ ท่านจะได้ฌานที่ ๔
ภายในเวลาเล็กน้อย ต่อไปก็ยึดสังขารที่ท่านเห็นว่าน่าเกลียดนี้ ให้เห็นอนิจจังคือความไม่เที่ยงเพราะมี
ความเปลี่ยนแปลงทรุดโทรมไปทุกวันเวลาเป็นปกติ ทุกขังเพราะอาศัยที่มันเคลื่อนไปสู่ความทำลาย
ทุกวันเวลา มันนำความไม่สบายกายไม่สบายใจจากโรคภัยไข้เจ็บ และในการกระทบกระทั่งทางอารมณ์
ให้เกิดความเดือดร้อนทุกวันเวลา จึงจัดว่าสังขารร่างกายนี้เป็นรังของความทุกข์ ให้เห็นเป็นอนัตตา
เพราะความเสื่อมความเคลื่อนและในที่สุดคือความทำลายขันธ์  เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มันจะต้อง
เป็นไปตามนั้นเพราะเป็นกฎธรรมดาของขันธ์ จะต้องเป็นอย่างห้ามไม่ได้  บังคับไม่อยู่  ยอมรับนับถือว่า
มันเป็นอนัตตาจริง เพราะความเป็นอนัตตา คือ บังคับไม่ได้ของสังขารร่างกายนี้แหละ พระพุทธเจ้าจึง
สอนให้ปล่อยอารมณ์ในการยึดถือเสีย เพราะจะยึดจะถือเพียงใดก็ไม่เป็นไปตามความต้องการ สังขาร
ร่างกายเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าที่มีใจครองหรือไม่มีใจครอง ตราบใดที่เรายังต้องการสังขาร
เราต้องประสบความทุกข์  ความทรมาน เพราะสิ่งโสโครกที่เข้าประกอบเป็นขันธ์ เราเห็นสภาพความ
จริงของสังขารร่างกายนี้ว่า เป็นของโสโครก ไม่น่ารัก ไม่น่าปรารถนา ควรปลีกตัวออกให้พ้นจริง เรา
เห็นสังขารร่างกายว่าเป็นอนิจจังไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนจริง เราเห็นสังขารร่างกายว่าเป็นทุกข์จริง เราเห็น
สังขารร่างกายว่าเป็นอนัตตาจริง ขึ้นชื่อว่าความเกิดเป็นทุกข์อย่างนี้ การยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ เป็น
ทุกข์อย่างนี้ เราไม่ต้องการความเกิดอีก เราไม่ปรารถนาชาติภพอีก เพราะชาติความเกิดเป็นแดนอาศัย
ของความทุกข์ โรคนิทธัง เรือนร่างของขันธ์ ๕ เป็นรังของโรค ถ้าร่างกายไม่มี โรคที่จะเบียดเบียนก็
ไม่มี เพราะไม่มีร่างกายให้โรคอาศัย ปภังคุนัง เรือนร่างมีสภาพต้องผุพังถ้าไม่มีเรือนร่าง เรื่องการผุพัง
อันเป็นเครื่องเสียดแทงใจให้เกิดทุกข์ก็ไม่มี เมื่อร่างไม่มีจะเอาอะไรมาเป็นอนัตตา เราไม่ต้องการทุกข์
ที่มีความเกิดเป็นสมุฏฐาน เราไม่ต้องการความเกิดในวัฏฏะอีก เราต้องการพระนิพพานที่ไม่มีความเกิด
และความตายเป็นแดนเกษมที่หาความทุกข์มิได้ พระนิพพานนั้นพระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ท่านที่จะไปสู่
พระนิพพานได้ไม่มีอะไรยาก ท่านสอนให้พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกายว่าโสโครก ถอนความรัก
ความอาลัยในสังขารเสีย บัดนี้เราปฏิบัติครบแล้ว เราเห็นแล้ว เราตัดความเห็นว่าสวยงามในสังขาร
ได้แล้วเราเชื่อแล้วว่า สังขารร่างกายเป็นทุกข์ เพราะอารมณ์ยึดมั่นว่า ร่างกายเป็นเรา เป็นของเรา
เราคือร่างกาย ร่างกายคือเรา ความคิดเห็นอย่างนี้เป็นความเห็นของผู้มีอุปาทานเรารู้แล้ว เราเห็น
ถูกแล้ว คือ เราเห็นว่าสังขารร่างกายไม่น่ารัก มีความสกปรกน่าสะอิดสะเอียน ร่างกายไม่ใช่เรา
ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา  เราคือจิตที่มีสภาพไม่แก่ ไม่ตาย ไม่สลายตัว
ที่เข้ามาอาศัยร่างกายที่ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันเป็นนามธรรม  ๔ อย่าง เป็นเครื่องประกอบ เป็นเครื่องจักรกลที่บริหารตนเองโดยอัตโนมัติ
ร่างกายนี้ค่อยเจริญขึ้นและเสื่อมลง มีการสลายตัวไปในที่สุด พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนให้ตัด ฉันทะ
ความพอใจในสรรพสังขารทั้งหมดเสียให้ได้  และให้ตัด ราคะ คือความกำหนัดยินดีในสรรพสังขาร
ทั้งหมด  คือ ไม่ยึดอะไรเลยในโลกนี้ว่า เป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีอะไรในเรา เราไม่มีในอะไรทั้งสิ้น
เราคือจิตที่มีคุณวิเศษดีกว่าอัตภาพทั้งปวง เราเกลียดสรรพวัตถุทั้งหมด เราไม่ยอมรับสรรพวัตถุ
แม้แต่เรือนร่างที่เราอาศัยนี้ว่าเป็นของเราและเป็นเรา เราปล่อยแล้วในความยึดถือ แต่จะอาศัยอยู่
ชั่วคราวเพื่อสร้างสรรค์ความดี สังขารจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องของสังขาร  สังขารร่างกายจะผุพัง
ก็เป็นเรื่องของสังขารร่างกาย  เราไม่รับรู้รับทราบ เราว่างแล้วจากภาระในการยึดถือ เรามีความสุขแล้ว
เรามีพระนิพพานเป็นที่ไปในกาลข้างหน้า สร้างอารมณ์ ความโปร่งใจให้มีเป็นปกติ ยึดพระนิพพาน
เป็นอารมณ์ ทำจนเป็นปกติ จิตยึดความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาจนเป็นปกติ เห็นอะไร ได้อะไรมา
คิดเห็นว่า นี่มันไม่ใช่ของเราจริง เขาให้ก็รับ เพื่อเกื้อกูลแก่อัตภาพชั่วคราว ไม่ช้าก็ต่างคนต่างสลาย
ทั้งของที่ได้มาและอัตภาพ ใครไปก่อนไปหลังกันเท่านั้น จนอารมณ์มีความรู้สึกอย่างนี้เป็นปกติ จิตก็
จะว่างจากอุปาทาน ในที่สุดก็จะถึงพระนิพพานสมความมุ่งหมาย
            (อธิบายในกายคตานุสสติโดยย่อพอได้ความ ก็ขอยุติไว้เพียงเท่านี้)

๙. อานาปานานุสสติกรรมฐาน

          อานาปานานุสสติ แปลว่า ระลึกถึงลมหายใจเป็นอารมณ์ กรรมฐานกองนี้เป็นกรรมฐานใหญ่
คลุมกรรมฐานกองอื่น  ๆ  เสียสิ้น  เพราะจะปฏิบัติกรรมฐาน ๔๐ กองนี้ กองใดกองหนึ่งก็ตาม จะต้อง
กำหนดลมหายใจเสียก่อน  หรือมิฉะนั้นก็ต้องกำหนดลมหายใจร่วมไปพร้อม ๆ  กับกำหนดพิจารณา
กรรมฐานกองนั้น  ๆ  จึงจะได้ผล  หากท่านผู้ใดเจริญกรรมฐานกองใดก็ตาม  ถ้าละเว้นการกำหนด
เสียแล้ว กรรมฐานที่ท่านเจริญ จะไม่ได้ผลรวดเร็วสมความมุ่งหมาย อานาปานุสสตินี้ มีผลถึงฌาน ๔
สำหรับท่านที่มีบารมีเป็นพุทธสาวก ถ้าท่านที่มีบารมีในวิสัยพุทธภูมิ คือท่านที่เป็นพระโพธิสัตว์คือท่าน
ที่ปรารถนาพุทธภูมิ ท่านผู้นั้นจะทรงฌานในอานาปาน์นี้ถึงฌานที่ ๕
อานาปานุสสติระงับกายสังขาร
         เมื่อมีทุกขเวทนาเกิดขึ้นทางกาย ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสติ เข้าฌานในอานาปาน์
จนถึงจตุตถฌานแล้ว  ทุกขเวทนานั้นจะระงับไปทันที ทั้งนี้มิใช่หมายความว่าเวทนาหายไป แต่เป็น
เพราะเมื่อเข้าถึงฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จิตจะแยกออกจากขันธ์ ๕ ไม่รับรู้ทุกขเวทนาของขันธ์
ทันที ท่านที่ได้ฌานในอานาปานุสสตินี้ ท่านจะไม่ได้รับทุกขเวทนาอย่างสาหัส เมื่อทุกข์ทางร่างกาย
เกิดขึ้น เพราะท่านหนีทุกข์ได้ด้วยการเข้าฌาน  แยกจิตกับขันธ์ ๕ ออกจากกันเป็นกรรมฐานที่ให้ผล
สูงมาก

รู้เวลาตายได้แน่นอน

          ท่านที่ได้ฌานอานาปานุสสตินี้ สามารถรู้กำหนดเวลาตายของท่านได้ตรงตามความจริง
เสมอ โดยกำหนดล่วงหน้าได้เป็นเวลาแรมปี เมื่อจะตาย ท่านก็สามารถบอกได้ว่า เวลาเท่านั้นเท่านี้
ท่านจะตาย และตายด้วยอาการอย่างไร เพราะโรคอะไร

ช่วยกรรมฐานกองอื่น

          ท่านที่ได้ฌาน ๔ ในอานาปาน์นี้แล้ว จะปฏิบัติในกรรมฐานกองอื่น ๆ อีก ๓๙ กองนั้น
ท่านเข้าฌานในอานาปานน์ก่อน แล้วถอยหลังจิตมาดำรงอยู่แค่อุปจารสมาธิ แล้วกำหนดกรรมฐาน
กองนั้นๆ ท่านจะเข้าถึงจุดสูงสุดในกรรมฐานกองนั้น ๆ ได้ภายใน  ๓  วัน เป็นอย่างช้า ส่วนมาก
ได้ถึงจุดสูงสุดของกรรมฐานกองนั้น ๆ  ภายในที่นั่งเดียว คือคราวเดียวเท่านั้นเอง

จุดจบของอานาปานุสสติ

          จุดจบของอานาปานุสสตินี้ คือ ฌานที่ ๔ หรือที่ ๕ ก็ได้แก่การกำหนดลมหายใจจนไม่
ปรากฏลมหายใจ ที่ท่านเรียกกันว่าลมหายใจขาด แต่ความจริงลมหายใจไม่ขาดหายไปไหน เพียง
แต่ว่ากายกับจิตแยกกันเด็ดขาด จิตไม่รับทราบอาการทางกายเท่านั้น เมื่อจิตไม่รับรู้เสียแล้ว การ
หายใจ หรือการเคลื่อนไหวใด ๆ ทางกาย จึงไม่ปรากฏแก่จิตตามความนิยม ท่านเรียกว่า ลมขาด

วิธีปฏิบัติในอานาปานุสสติ

          การปฏิบัติในอานาปานุสสตินี้ ไม่มีอะไรยุ่งยากมากนัก เพราะเป็นกรรมฐานที่ไม่มีในองค์
ภาวนา และไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก เพียงแต่คอยกำหนดลมหายใจเข้าออกตามฐานที่กำหนดไว้ให้รู้
อยู่หรือครบถ้วนเท่านั้น  เวลาหายใจเข้าก็รู้ว่าหายใจเข้า หายใจออกก็รู้ว่าหายใจออก พร้อมกับสังเกต
ลมกระทบฐาน ๓ ฐาน ดังจะกล่าวต่อไปให้ทราบ

ฐานที่กำหนดรู้ของลม

          ฐานกำหนดรู้ที่ลมเดินผ่านมี ๓ ฐาน คือ
          ก. ฐานที่ ๑ ท่านให้กำหนดที่ริมฝีปาก และที่จมูก เมื่อหายใจเข้า ลมจะกระทบที่จมูก
เมื่อหายใจออกลมจะกระทบที่ริมฝีปาก
          ข. ฐานที่ ๒ หน้าอก เมื่อลมผ่านเข้าหรือผ่านออกก็ตาม ลมจะต้องกระทบที่หน้าอก หมายเอา
ภายใน ไม่ใช่หน้าอกภายนอก ลมกระทบทั้งลมเข้าและลมออกเสมอ
          ค. ศูนย์ที่ท้องเหนือสะดือนิดหน่อย ลมหายใจเข้าหรือออกก็ตาม จะต้องกระทบที่ท้องเสมอ
ทุกครั้ง
          ๓  ฐานนี้มีความสำคัญมาก เป็นเครื่องวัดอารมณ์ของจิต เพราะถ้าจิตกำหนดจับฐานใด
ฐานหนึ่งไม่ครบ ๓ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของจิตระงับอกุศลที่เรียกว่านิวรณ์  ๕ ได้ แต่อารมณ์หยาบ
อารมณ์อกุศลที่เป็นอารมณ์กลางและละเอียดยังระงับไม่ได้ สมาธิของท่านผู้นั้น อย่างสูงก็ได้เพียง
ขณิกสมาธิละเอียดเท่านั้น ยังไม่เข้าถึงอุปจารสมาธิ ยังไกลต่อฌานที่ ๑ มาก
          ถ้าท่านผู้ปฏิบัติ กำหนดรู้ลมผ่านได้ ๒ ฐาน แสดงว่าอารมณ์ของท่านผู้นั้นดับอกุศล คือ
นิวรณ์ได้ในอารมณ์ปานกลาง ส่วนอารมณ์นิวรณ์ที่ละเอียดอันเป็นอนุสัย คือกำลังต่ำยังระงับไม่ได้
สมาธิของท่านผู้นั้นอย่างสูงก็แค่อุปจารสมาธิ จวนจะเข้าถึงปฐมฌานแล้ว
          ถ้าผู้ใดกำหนดรู้ ลมผ่านกระทบได้ทั้ง  ๓  ฐาน ท่านว่าท่านผู้นั้นระงับนิวรณ์ละเอียดได้แล้ว
สมาธิเข้าถึงปฐมฌาน
          ส่วนฌานต่าง ๆ  อีกสามคือ ฌานที่ ๑, ๒, ๓, ๔ อยากทราบโปรดพลิกไปดูในข้อที่ว่าด้วย
ฌาน จะเข้าใจชัด

นับลม

          การฝึกในอานาปาน์ จะว่าง่ายนั้น ก็ดูจะเป็นการยกเมฆเกินไป เพราะอานาปาน์เป็น
กรรมฐานใหญ่ที่ครอบงำกรรมฐานทั้งหมด จะง่ายตามคิดนั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่ ท่านที่ไม่เคยผ่าน
คงคิดว่าไม่น่ายากเลย เรื่องคิดแล้วไม่ทำ นำเอาไปพูดนั้น  ที่ว่าไม่ยากก็ไม่เถียง เพราะพวกนี้มี
ความดีอยู่แค่ริมฝีปาก ส่วนอื่นทั้งตัวไม่มีอะไรดีเลย เลวเสีย  ๙๙.๙๙  มีดีนิดเดียว ท่านจะคุยโม้
อย่างไรก็ช่างท่านเถิด เรามาเอาดีทางปฏิบัติกันดีกว่า
          การกำหนดลมเป็นของยาก เพราะจิตของเราเคยท่องเที่ยวมานาน ตามใจเสียจนเคย
จะมาบังคับกันปุบปับให้อยู่นั้นเมินเสียเถอะ ที่จิตจะยอมหมอบราบคาบแก้ว เมื่อระวังอยู่แกก็ทำท่า
เหมือนจะยอมจำนน แต่พอเผลอเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น แกก็ออกแน็บไปเหนือไปใต้ตามความ
ต้องการของแก กว่าเจ้าของจะรู้ก็ไปไกลแล้ว  อารมณ์ของจิตเป็นอย่างนี้  เมื่อทำไปถ้าเอาไม่อยู่
ท่านให้ทำดังต่อไปนี้

ฝึกทีละน้อย

          ท่านสอนให้นับลมหายใจเข้า หายใจออก เข้าครั้ง ออกครั้ง นับเป็นหนึ่ง ท่านให้กำหนด
นับดังต่อไปนี้
          นับ  ๑, ๒, ๓, ๔, ๕  เอาแค่เข้าออก ๕ คู่  นับไปและกำหนดรู้ฐานทั้ง ๓ ไปด้วย กำหนดใจ
ไว้ว่า เราจะกำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออกเพียง ๔ คู่ พร้อมด้วยรู้ฐานลมทั้ง ๓ ฐาน แล้วก็เริ่มกำหนด
ฐานและนับลม พอครบ ๕ คู่ ถ้าอารมณ์ยังสบาย ก็นับไป ๑ ถึง ๕ เอาแค่นั้น พอใจเริ่มพล่าน ถ้าเห็นท่า
จะคลุมไม่ไหว  ก็เลิกเสียหาความเพลิดเพลินตามความพอใจ เมื่ออารมณ์ดีแล้วกลับมานับกันใหม่
ไม่ต้องภาวนา เอากันแค่รู้เป็นพอ เมื่อนับเพียง ๕ จนอารมณ์ชินไม่หนีไม่ส่ายแล้ว ก็ค่อยเลื่อนไปเป็น
๖  คู่ คือ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕, ๖  ถ้า  ๖  คู่ สบายดีไม่มีอะไรรบกวน แล้วก็ค่อยเลื่อนไปเป็น  ๗ คู่ ๘ คู่ ๙ คู่
๑๐ คู่ จนกว่าอารมณ์จิตจะทรงเป็นฌานได้นานตามสมควร

ผ่อนสั้นผ่อนยาว 

          การเจริญอานาปานุสสตินี้ มีอาการสำคัญของนักปฏิบัติใหม่ ๆ อย่างหนึ่ง คืออารมณ์ซ่าน
เวลาที่จิตใจไม่สงบจริงมีอยู่ พอเริ่มต้น อารมณ์ฟุ้งซ่านก็เริ่มเล่นงานทันที บางรายวันนี้ทำได้เรียบร้อย
อารมณ์สงัดเป็นพิเศษ จิตสงัดผ่องใส อารมณ์ปลอดโปร่งกายเบา อารมณ์อิ่มเอิบ พอรุ่งขึ้นอีกวัน คิดว่า
จะดีกว่าวันแรก หรือเอาเพียงสม่ำเสมอแต่กลับผิดหวัง เพราะแทนที่จะสงัดเงียบ กลับฟุ้งซ่านจนระงับ
ไม่อยู่ ก็ให้พยายามระงับ และนับ ๑, ๒, ๓, ๔, ๕,๖, ๗, ๘, ๙, ๑๐ ถ้านับก็ไม่เอาเรื่องด้วย ยิ่งฟุ้งใหญ่
ท่านตรัสสอนไว้ในบทอานาปานุสสติว่า เมื่อเห็นว่าเอาไว้ไม่ได้จริง ๆ ท่านให้ปล่อยอารมณ์ แต่อย่า
ปล่อยเลย ให้คอยระวังไว้ด้วย คือปล่อยให้คิดในเมื่อมันอยากคิด มันจะคิดอะไรก็ปล่อยให้มันคิดไป
ตามสบาย ไม่นานนักอย่างมากไม่เกิน  ๒๐  นาที อารมณ์ซ่านก็จะสงบระงับกลับเข้าสู่อารมณ์สมาธิ
เมื่อเห็นว่าอารมณ์หายซ่านแล้วให้เริ่มกำหนดลมตามแบบ ๓ ฐานทันที ตอนนี้ปรากฏว่าอารมณ์สงัด
เป็นอันดี มีอารมณ์เป็นฌานแจ่มใส อาการอย่างนี้มีแก่นักปฏิบัติอานาปานุสสติเป็นปกติ โปรดคอย
ระลึกไว้ และปฏิบัติตามนี้จะได้ผลดี

อานาปาน์พระพุทธเจ้าทรงเป็นปกติ

          เพื่อความอยู่เป็นสุขในสมบัติ ไม่มีสมาบัติใดที่จะอยู่เป็นสุขเท่า อานาปานานุสสติ เพราะ
เป็นสมาบัติที่ระงับกายสังขาร คือดับเวทนาได้ดีกว่าสมาบัติอื่น แม้จะเป็นสมาบัติต้นก็ตาม พระอรหันต์
ทุกองค์ แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง พระองค์ก็ทรงอยู่เป็นสุขด้วยอานาปานานุสสติดังพระปรารภ
ของพระองค์ที่ทรงปรารภแด่พระอานนท์ว่า อานันทะดูก่อนอานนท์ ตถาคตก็มากไปด้วยอานาปานุสสติ
เป็นปกติประจำวัน เพราะอานาปานานุสสติระงับกายสังขารให้บรรเทาจากทุกขเวทนาได้ดีมากท่านที่
ได้อานาปานานุสสติแล้ว จงฝึกฝนให้ชำนาญและคล่องแคล่วฉับไวในการเข้าฌานที่ ๔ เพื่อผลในการ
ระงับทุกขเวทนาอย่างยิ่ง และเพื่อผลในการช่วยฝึกฌานในกองอื่นอีกอย่างหนึ่ง

อานาปานานุสสติเป็นบาทของวิปัสสนาญาณ

          ผลกำไรใหญ่อีกอย่างหนึ่งของอานาปานานุสสติก็คือ  เอาอานาปานานุสสติเป็นบาทของ
วิปัสสนาญาณ เพราะฌานที่ ๔ ของอานาปาน์ เป็นฌานระงับกายสังขาร ดับทุกขเวทนาได้ดี เมื่อ
จะเจริญวิปัสสนาญาณต่อไป ท่านให้เข้าฌาน  ๔ พอเป็นที่สบายแล้วถอยสมาธิมาอยู่ที่อุปจารสมาธิ
แล้วใคร่ครวญพิจารณาว่า ทุกขเวทนาที่เกิดแก่สังขาร เราจะรู้ว่าเป็นทุกข์ก็เพราะจิตที่ยึดถือเอาสังขาร
เข้าไว้ ขณะที่เราเข้าฌาน ๔ จิตแยกจากสังขาร ทุกขเวทนาไม่ปรากฏแก่เราเลย ฉะนั้น ทุกข์ทั้งปวง
ที่เรารับอยู่ก็เพราะอาศัยสังขารเป็นเหตุ การยึดถือสังขารเป็นทุกข์อย่างนี้ เราจะปล่อยไม่รับรู้เรื่องสังขาร
ต่อไป คือไม่ต้องการสังขารอีก การเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ก็กลับมามีสังขารอีกเมื่อหมดบุญ เราไม่
ประสงค์การกลับมาเกิดอีก เทวดาหรือพรหม ยังมีปัจจัยให้มาเกิด เราไม่ต้องการ เราต้องการนิพพาน
เท่านั้นที่หมดปัจจัยในการเกิด เราทราบแล้ว เพราะการเข้าฌาน ๔ ที่ขาดจากปัจจัยในสังขาร เป็นสุข
อย่างยิ่ง แต่ฌานที่เข้าไปสามารถจะทรงได้ตลอดกาล สิ่งที่ทรงการละทุกขเวทนาได้ตลอดกาลก็คือ การ
ปล่อยอุปาทาน ได้แก่ไม่รับรู้รับทราบสมบัติของโลกีย์ คือตัดความใคร่ความยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ
สุข และไม่เดือดร้อนเมื่อสิ้นลาภ สิ้นยศ มีคนนินทา และประสบกับความทุกข์ จัดว่าเป็นอารมณ์ขัดข้อง
และเราจะปล่อยอารมณ์จากความต้องการในความรัก ความอยากได้ ความโกรธ และพยาบาท
ความเป็นเจ้าของทรัพย์ทั้งปวง เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเหตุของความทุกข์ แล้วทำจิตให้ว่างจากอารมณ์
นั้น ๆ  พยายามเข้าฌานออกฌาน  แล้วคิดอย่างนี้เป็นปกติ จิตจะหลุดพ้นจากอาสวกิเลสได้อย่าง
ไม่ยากเลย
(จบอานาปานานุสสติ)

๑๐. อุปสมานุสสติกรรมฐาน
          อุปสมานุสสติ  แปลว่า ระลึกคุณพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตามศัพท์ท่านน่าจะแปลว่า
ระลึกถึงคุณของความเข้าไปสงบระงับจิตจากกิเลสและตัณหา ก็คือการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง
ท่านแปลเอาความหมายว่า ระลึกถึงคุณพระนิพพานนั้น เป็นการแปลโดยอรรถ ท่านแปลของท่าน
ถูกต้องและเหมาะสมแล้ว ที่เขียนถึงคำว่าสงบระงับไว้ด้วยก็เพื่อให้เต็มความประสงค์ของนักคิดเท่านั้น
เอง

ระลึกตามแบบ


          ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ
ท่านอธิบายถึงการระลึกถึงคุณพระนิพพาน โดยท่านยกบาลี ๘ ข้อ ไว้เป็นแนวเครื่องระลึก ดังจะนำมา
เขียนไว้เพื่อเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการระลึกดังต่อไปนี้

บาลีปรารภพระนิพพาน ๘


          ๑. มทนิมฺมทโน แปลว่า พระนิพพานย่ำยีเสียซึ่งความเมา มีความเมาในความเป็น
คนหนุ่ม และเมาในชีวิต โดยคิดว่าตนจะไม่ตายเป็นต้น ให้สิ้นไปจากอารมณ์  คือคิดเป็นปกติเสมอว่า
ชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โลกนี้ทั้งสิ้น มีความฉิบหายเป็นที่สุด
          ๒. ปิปาสวินโย  แปลว่า พระนิพพาน บรรเทาซึ่งความกระหาย คือความใคร่กำหนัด
ยินดีในกามคุณ ๕ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และการถูกต้องสัมผัส
          ๓. อาลยสมุคฺฆาโต แปลว่า พระนิพพาน ถอนเสียซึ่งอาลัยในกามคุณ ๕ หมายความ
ว่า ท่านที่เข้าถึงพระนิพพาน คือมีกิเลสสิ้นแล้ว ย่อมไม่ผูกพันในกามคุณ ๕ เห็นกามคุณ ๕ เสมือน
เห็นซากศพ
          ๔. วัฏฏปัจเฉโท แปลว่า พระนิพพาน ตัดเสียซึ่งวนสาม คือ กิเลสวัฏได้แก่ ตัดกิเลส
ได้สิ้นเชิง ไม่มีความมัวเมาในกิเลสเหลืออยู่แม้แต่น้อย กรรมวัฏ ตัดกรรม อันเป็นบาปอกุศล วิปากวัฏ
คือตัดผลกรรมที่เป็นอกุศลได้สิ้นเชิง
          ๕. ตัณหักขโย, วิราโค, นิโรโธ แปลว่า นิพพานธรรมนั้น ถึงความสิ้นไปแห่ง
ตัณหา
 ตัณหาไม่กำเริบอีก มีความหน่ายในตัณหา ไม่มีความพอใจในตัณหาอีก ดับตัณหาเสียได้สนิท
ตัณหาไม่กำเริบขึ้นอีกได้แม้แต่น้อย
          ๖. นิพพานัง แปลว่า ดับสนิทแห่งกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรมอำนาจทั้ง ๔ นี้ ไม่มี
โอกาสจะให้ผลแก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงพระนิพพานแล้วได้อีก

           ตามข้อปรากฏว่ามีเพียง ๖ ข้อ ความจริงข้อที่ ๕ ท่านรวมไว้ ๓ อย่าง คือ ตัณหักขโย  ๑
วิราโค ๑  นิโรโธ ๑ ข้อนี้รวมกันไว้เสีย ๓ ข้อแล้ว ทั้งหมดจึงเป็น ๘ ข้อพอดี ท่านลงในแบบว่า ๘
ก็เขียนว่า ๘ ตามท่าน ความจริงเมื่อท่านจะรวมกัน ท่านน่าจะเขียนว่า ๖ ข้อก็จะสิ้นเรื่อง เมื่อท่าน
เขียนเป็นแบบมาอย่างนี้ ก็เขียนตามท่าน
           ท่านสอนให้ตั้งจิตกำหนดความดีของพระนิพพานตามในบาลีทั้ง ๘ แม้ข้อใด ข้อหนึ่งก็ได้
ตามความพอใจ แต่ท่านก็แนะไว้ในที่เดียวกันว่า บริกรรมภาวนาว่า  "นิพพานัง"  นั่นแหละดีอย่างยิ่ง
ภาวนาไปจนกว่าจิตจะเข้าสู่อุปจารฌาน โดยที่จิตระงับนิวรณ์ ๕ ได้สงบแล้วเข้าถึงอุปจารฌานเป็นที่สุด
กรรมฐานนี้  ที่ท่านกล่าวว่าได้ถึงที่สุดเพียงอุปจารฌานก็เพราะเป็นกรรมฐานละเอียดสุขุม  และใช้
อารมณ์ใคร่ครวญเป็นปกติ กรรมฐานนี้จึงมีกำลังไม่ถึงฌาน

อานิสงส์

          อานิสงส์ที่ใช้อารมณ์ใคร่ครวญถึงพระนิพพานนี้มีผลมาก เป็นปัจจัยให้ละอารมณ์ที่คลุกเคล้า
ด้วยอำนาจกิเลสและตัณหา เห็นโทษในวัฏฏะ เป็นปัจจัยให้แสวงหาทางปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์
อันเป็นปฏิปทาไปสู่พระนิพพาน เป็นกรรมฐานที่นักปฏิบัติได้ผลเป็นกำไร เพราะเป็นปัจจัยให้เข้าถึง
ความเป็นพระอริยเจ้าได้อย่างสบาย ขอท่านนักปฏิบัติจงสนใจกรรมฐานกองนี้ให้มาก ๆ และแสวงหา
แนวปฏิบัติ ที่เข้าตรงต่อพระนิพพานมาปฏิบัติ ท่านมีโอกาสจะเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างไม่ยากนัก
เพราะระลึกนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์นี้  เป็นองค์หนึ่งในองค์สามของพระโสดาบัน ชื่อว่าท่าน
ก้าวเข้าไปเป็นพระโสดาบันหนึ่งในสามขององค์พระโสดาบันแล้ว เหลืออีกสองต้องควรแสวงหาให้
ครบถ้วน 


พบพระแปลกหน้าในป่า
          ปี ๒๔๘๐ - ๘๑ - ๘๒  สามปีที่กล่าวถึง เป็นปีนิยมไพร ออกธุดงค์ไปปักกลดที่แดนชิดเขต
พม่า สายเมืองกาญจน์ เมืองกาญจนบุรี และเขตแม่สายในคราวธุดงค์นั้น พบพระผู้เฒ่ารูปหนึ่งท่านมา
จากเขตพม่า ท่านทำอะไรได้แปลก ๆ เช่นตอนเช้าท่านถามว่า  วันนี้จะฉันปลาทูต้มยำไหม? ถามว่า
ในป่าอย่างนี้จะเอาที่ไหนมาฉัน ท่านบอกว่าท่านจะไปจังหวัดสมุทรสาครจะเอามาให้ เกิดลองดีท่านจึง
บอกว่า ผมชอบครับ ท่านคว้าบาตรออกเดินหายไปในป่าประมาณครึ่งชั่วโมงท่านกลับมา พร้อมกับ
หม้อเคลือบสีเขียวขนาดกลาง มีปลาทูต้มยำเยอะ กำลังร้อน ท่านให้ฉัน ขณะฉันท่านบอกว่า แม่พ่วง
เขาสั่งมาว่า บอกท่านมหาด้วย พรุ่งนี้จะหาข้าวตอกน้ำกะทิมาให้ฉัน เขาบอกว่าท่านชอบ พอท่านพูด
ก็สงสัยว่า ท่านทราบได้อย่างไรว่า แม่พ่วงตลาดในเมืองจังหวัดสมุทรสาครนั้นชอบกับผู้เขียน และท่าน
ไปจังหวัดสมุทรสาครได้อย่างไร ถ้าจะเดินกันจริง ๆ มันต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนจึงถึง พอคิด
เท่านั้น ท่านก็พูดว่า ท่านคิดอย่างนั้นถูกสำหรับบุถุชนคนธรรมดา ถ้าเป็นพระที่ได้อภิญญาอย่างผมไม่มี
อะไรสำคัญ ได้ฟังท่านพูดก็ตกใจ ท่านอธิบายต่อไปว่า เรื่องอภิญญาเป็นของมีจริง และเป็นเรื่องเล็ก ๆ
สำหรับท่านที่รักการปฏิบัติจริง เรื่องมรรคผลนิพพานสิเป็นเรื่องใหญ่  นิพพานที่เข้าใจกันว่าสูญนั้นเป็น
การเข้าใจผิดชัด ๆ ความจริงนิพพานไม่สูญ เป็นแดนพิเศษที่เหนือเทวดาและพรหม มีความสวยสด
งดงามมากกว่าเทวดาและพรหม  มีความสุขละเอียดกว่า สุขุมกว่า ไปไหนมาไหนได้ตามสบาย ไม่มี
สภาพสิ้นซากหรือไร้ความรู้สึก ถามท่านว่า ท่านเคยพบนิพพานแล้วหรือ? ท่านบอกว่าพบแล้ว จึงออก
จากวัดมาอยู่ป่า เมื่อวานนี้ฉันพบกับอาจารย์เธอที่วัดบางนมโค ท่านขอร้องให้ฉันสงเคราะห์เธอเรื่อง
นิพพาน ฉันจึงมาเพื่อสงเคราะห์ ท่านกรุณาแนะนำดังต่อไปนี้

หาหนังสืออุทุมพริกสูตร

          ท่านบอกว่า ถ้าจะปฏิบัติให้พบพระนิพพานเร็ว ก็ต้องอ่านอุทุมพริกสูตร และปฏิบัติตามนั้น
ให้ครบถ้วน จะเข้าถึงนิพพานได้อย่างไม่ผิดพลาดและรวดเร็ว ตอนนี้จะบอกเรื่องการเห็นไว้พอเป็น
แนวทางของความคิดเห็น


การเห็นมีหลายชั้น
         ท่านว่าสิ่งที่จะเห็นมีหลายชั้น แต่ต้องปรับปรุงตัวให้เหมาะสม พอที่จะเห็นได้ มนุษย์ธรรมดา
มีตาไว้สำหรับดูธาตุที่เป็นรูป และเป็นของใหญ่ ธาตุที่เล็กกว่าเล็นไรมนุษย์ก็มองไม่เห็น ตามนุษย์นี้
เป็นตาที่ดูของหยาบมาก  สู้ตาสัตว์เดียรัจฉาน  เช่น ตาแมว ตาสุนัขไม่ได้ พอมืด มนุษย์แม้ของใหญ่
ก็มองไม่เห็น  ส่วนสัตว์เดียรัจฉาน ในป่ากลางคืนเดินหากินสบาย ไม่ต้องใช้คบเพลิงหรือตะเกียง
ส่องทาง เห็นหรือยังว่า ตามนุษย์เลวกว่าตาสัตว์เดียรัจฉาน? ท่านถาม ตอบท่านว่าเห็นแล้วขอรับ ท่าน
เล่าต่อไป มนุษย์นี้ไม่สามารถเห็นพวกยักษ์ผี ที่เรียกว่าอสุรกาย  เปรต  และสัตว์นรกได้ ถ้าพวกนั้น
เขาไม่ให้เห็น ความจริงพวกที่กล่าวถึงนี้มีกายหยาบมาก เห็นง่าย เสียงดังฟังชัด พวกที่กล่าวแล้วนั้น
ก็ไม่สามารถเห็นเทวดาที่มีบุญญาธิการมากกว่าได้ ถ้าเขาไม่ต้องการให้เห็น เทวดาก็ไม่สามารถ
เห็นพรหมได้ถ้าเขาไม่ต้องการให้เห็น  พรหมก็ไม่สามารถเห็นพระอริยะที่เข้านิพพานได้  ถ้าท่าน
ไม่ต้องการให้เห็น ความเห็นนั้นมีคุณพิเศษละเอียดต่างกันด้วยบุญญาธิการอย่างนี้

มนุษย์ต้องการเห็น

          ถ้ามนุษย์ต้องการเห็นพวกผี เปรต เทวดา ท่านให้เจริญกสิณกองใดก็ได้ แล้วฝึกทิพยจักษุ-
ญาณมีระดับฌาน เพียงอุปจารฌาน หรือฌาน  ๑ -  ๒ เท่านี้ก็พอเห็นผีเทวดาได้แต่ไม่ชัดนัก แต่จะ
เห็นพรหมไม่ได้
          ถ้าจะให้เห็นพรหม ต้องได้ฌาน ๔ ชำนาญ ทิพยจักษุญาณจะแจ่มใสขึ้นสามารถเห็นพรหม
ได้ แต่จะเห็นพระนิพพานไม่ได้
          ถ้าอยากจะเห็นพระนิพพาน  ต้องเจริญวิปัสสนาญาณ ให้ได้บรรลุพระโสดาบันเป็นอย่างต่ำ
อาศัยญาณที่ได้ไว้ในสมัยโลกียฌาน  พอได้มรรคผลเป็นพระอริยะ  ฌานนี้ก็กลายเป็นโลกุตตรฌาน
และอาศัยผลที่เป็นพระอริยะ ท่านเรียกญาณที่ได้ว่า  "วิมุตติญาณทัสสนะ"  แปลว่าหลุดพ้นจากกิเลส
พร้อมด้วยญาณเป็นเครื่องรู้ เท่านี้พระนิพพานก็ปรากฏชัดแก่ญาณจักษุ พระโสดานี้ได้แต่เห็นนิพพาน
ยังอาศัยนิพพานเป็นที่พักผ่อนไม่ได้ ถ้าสำเร็จอรหัตผลแล้ว ท่านก็ไปนอนค้างบนนิพพาน อันเป็นสถาน
ที่อยู่สำหรับตนได้เลย ท่านว่าบนนิพพานก็คล้ายกับพรหม มีวิมานแต่วิจิตรมาก ร่างของท่านที่เข้า
นิพพานเป็นทิพย์ละเอียด ใสสะอาด ใสคล้ายแก้วประกายพรึก มีรัศมีสว่างมากกว่าพรหมอย่างเทียบ
กันไม่ได้เลย มีความสุขที่สุดอย่างไม่มีอะไรเปรียบ เพราะความรู้สึกอย่างอื่นไม่มี มีแต่จิตสงเคราะห์
เรียนถามท่านว่า พระที่เข้านิพพานแล้วอย่างพระอรหันต์ หรือพระพุทธเจ้า ท่านจะมาโปรดพวกที่ยัง
ไม่บรรลุได้ไหม?
          ท่านตอบว่า มาได้ เราจะได้ยินท่านได้ เมื่อจิตเข้าสู่อุปจารฌาน ถ้าท่านต้องการให้ได้ยิน
เสียง จะเห็นท่านได้เมื่อมีอารมณ์จิตอยู่ในอุปจารฌาน แต่เห็นไม่ชัด ถ้ามีอารมณ์ถึงจตุตถฌาน
และทรงฌานจนชำนาญ แล้วจะเห็นชัดและได้ยินคำสอนเหมือนเห็นฉันนั่งอยู่ และพูดอยู่อย่างนี้
ท่านสรุปว่า เรื่องการเห็นมีเป็นระดับอย่างนี้  อย่าเถียงกันเรื่องนิพพานเลย ทำตัวให้ถึงเสียก่อนจะ
เห็นเองเวลานี้เธอทั้งสามยังเป็นโลกียฌานอยู่ อย่าเพ่อคิดว่าดีแล้ว วิเศษแล้ว ยังไกลต่อความดี ต่อ
ความวิเศษมากนักคนที่รู้ว่าตัวดี คนนั้นยังไม่ถึงความวิเศษ คนใดเห็นว่า ไม่ว่าอะไรทั้งหมดในโลกนี้
เทวโลก พรหมโลกไม่มีอะไรดี อะไรวิเศษ สิ้นความรักความพอใจทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมรับนับถือกฎ
ธรรมดาผู้นั้นแหละถึงดีถึงความวิเศษแล้ว เธอทั้งสามถ้าต้องการฉัน ฉันจะมาสอนเธอทุกคืนที่เธอ
ต้องการ เมื่อต้องการฉัน ขอให้คิดถึงฉัน เรียกฉันว่าอาจารย์ใหญ่ แล้วฉันจะมาพบเธอเสมอ แต่
ต้องเป็นเวลาดึกสงัด พอฉันเสร็จท่านก็ลากลับไป
          เรื่องนิพพานท่านว่าอย่างนี้ ขอท่านผู้อ่าน อ่านแล้วฟังหูไว้หู อย่าเชื่อเกินไป และอย่าเพ่อ
ปฏิเสธ จนกว่าท่านจะเข้าถึงวิมุตติญาณทัสสนะเมื่อไร เมื่อนั้นท่านเอาความบริสุทธิ์ของท่านและ
ญาณเป็นเครื่องรู้พิสูจน์ ท่านจะทราบจริงว่า ท่านอาจารย์ใหญ่พูดนี้ถูกต้องตามความเป็นจริง  หรือ
คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

สอนวิธีปฏิบัติเพื่อรู้พระนิพพาน

          ต่อมาวันรุ่งขึ้น  ผู้เขียนและเพื่อนติดใจเรื่องนิพพาน  อยากจะเห็นนิพพาน พอตกเวลาราตรี
ก็ทำวัตรสวดมนต์ เสร็จแล้วเริ่มทำสมาธิตามแบบฉบับของโบราณ พออารมณ์เข้าอุปจาระก็นึกถึงท่าน
พอนึกท่านก็ถึงทันที พอมาถึงท่านบอกว่า ผมมาคอยอยู่นานแล้ว รู้แล้วว่าต้องมาแน่เพราะอย่างไรเสีย
เธอก็ต้องขอเรียนเรื่องนิพพาน ท่านเริ่มสอนว่า


          นักนิยมนิพพาน ต้องมีแนวปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด


๑. ระงับอุปกิเลส
          ให้พยายามระงับอุปกิเลสให้สิ้น  อย่าให้ใช้อารมณ์แม้แต่น้อยหนึ่ง ให้เข้าไปยุ่งแก่ภาระ
ของคนอื่น จะเป็นเรื่องดีเรื่องชั่วก็ตาม ไม่ต้องคิดถึงใคร เขาจะชม  เขาจะติ  เขาจะรวย จะจน
จะเป็นอะไรก็ช่าง  ห้ามยุ่ง  ระวังตัวของตัวเองเป็นสำคัญ ไม่ต้องคอยสอนคนอื่น พยายามระมัดระวัง
ตัวเองเป็นที่สุด อะไรจะเกิดแก่ตนต้องถือว่าช่างเป็นสำคัญ อย่าสร้างความดีใจ ขัดข้องใจในอารมณ์
นั้น ๆ อย่างนี้เป็นระดับแรก  ถ้าทำได้อย่างนี้  เรียกว่า ถึงสะเก็ดของพระนิพพานแล้ว

๒. ระวังศีล นิวรณ์ และสร้างพรหมวิหาร ๔

          ต่อไปให้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ไม่ทำลายศีลเอง ไม่ยุให้คนอื่นทำลายศีล ไม่ยินดีต่อเมื่อเห็น
คนอื่นทำลายศีล
          ต่อไปก็ระงับนิวรณ์ ๕ ด้วยการเจริญฌาน นิวรณ์ ๕ จะระงับได้ด้วยจิตทรงในฌาน ข้อนี้
พวกท่านชำนาญแล้ว และทำถูกแล้ว ควรรักษาไว้อย่าให้เสื่อม
          ต่อไปก็เจริญเมตตาพรหมวิหารทั้ง ๔ ให้ทรงใจเป็นปกติ  รักด้วยเมตตา สงสาร มีใจอารี
ไม่ริษยา มีอารมณ์ปกติ  คือวางเฉย พรหมวิหาร  ๔ นี้ จะทำให้ฌานไม่เสื่อม และศีลจะบริสุทธิ์ เป็น
ปัจจัยให้ได้วิปัสสนาญาณรวดเร็ว อันนี้ท่านก็ได้แล้ว ไม่มีอะไรหนักใจ  คนที่ทรงคุณตามนี้เป็นผู้มี
ความดีถึงเปลือกนิพพานแล้ว พวกคุณทั้งสามมีความดีถึงเปลือกนิพพานแล้ว ท่านสอนไป ท่านก็
พยากรณ์ไปด้วย

๓. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

          เมื่อเธอปฏิบัติตามข้อ  ๒  ได้ครบแล้ว ความจริงพวกเธอได้มาแล้ว อาจารย์เธอสั่งมาว่า
อย่างนั้น ฉันจะสอนต่อไป ต่อไปเธอจงพยายามสร้างปุพเพนิวาสานุสสติญาณให้ได้ จงปฏิบัติตามนี้
เข้าฌานในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่ง ถึงฌาน ๔ แล้ว ถอยจิตออกมาที่อุปจารฌาน นั่นทำอย่างนั้นถูก
แล้ว เพราะพอท่านสอน นักธุดงค์ก็ทำตามทันที แล้วค่อย ๆ คิดถึงเหตุในอดีต จนถึงชาติก่อน ๆ ร้อย
ชาติพันชาติแล้วเข้าฌานใหม่นั่นถูกแล้ว ออกจากฌานคิดใหม่ ท่านบอกบทอยู่จนค่อนรุ่ง พวกนิยม
ไพรก็เต้นตาม พอใกล้สว่างท่านบอกว่า ที่สอนนี้ทำให้คล่องภายใน ๓ วัน  ถ้าไม่คล่องฉันจะไม่มา
สอนอีก จนเธอตาย ท่านว่าถ้าได้คล่องตามนี้ พวกเธอก็เข้าถึงกระพี้นิพพาน  แล้วท่านก็กลับ พวก
นิยมไพรซ้อมกันอย่างเอาชีวิตเข้าแลก พอวันที่ ๒ ก็ชำนาญ รุ่งขึ้นวันที่ ๓ ท่านมาใหม่

๔. จุตูปปาตญาณ

          พอท่านมาถึง ท่านก็ยิ้มแล้วบอกว่า ฤาษีโพธิวัตรกับฤาษีพนมไพรเก่งมาก ตาลิงดำนี่
แกนานหน่อยนะ ถึงแม้จะยังไม่ได้ก็ไม่เป็นไร รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม นาน ๆ ไปถ้าไม่เลิกเสีย
ก็ได้เอง ต่อไปจงเข้าฌาน ๔ ในกสิณ ท่านบัญชา พวกเราก็เข้า สักพักหนึ่งท่านสั่งคลายออกแค่
อุปจาระ พวกเราก็คลายตามท่านสั่ง จับภาพกสิณให้แจ่มใส พวกเราก็ทำตาม เพิกกสิณเสียขอ
ภาพนรกจงปรากฏแทน พวกเราก็ทำตามเพราะจิตที่เรียนมายังสงสัยอเวจีมหานรก ก็พบอเวจี
พอดี  เอ้าถอนได้คลายมาอยู่อุปจารฌาน พวกเราก็ทำตาม     
          ต่อไปเข้าฌาน ๔ ใหม่ พวกเราก็เข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน ๔ท่านบัญชาพวกเราก็ออก
มาหยุดอยู่แค่อุปจาระ  สร้างภาพกสิณให้แจ่มใส ท่านสั่ง พวกเราก็ทำตามขอภาพกสิณจงหายไป
ภาพเทวโลกจงปรากฏ พวกเราทำตาม เห็นเทวโลกแจ่มใสเป็นเมืองทิพย์สวยที่สุด พวกเราเพลิด
เพลินมาก แต่พอจะเพลินดี ก็ได้ยินเสียงก้องมาว่า เทวโลกเป็นกามาวจรที่ยังไม่พ้นวัฏฏะ จงถอน
ความพอใจเสีย พิจารณาเทวโลกให้เป็นของปฏิกูลตามแบบอสุภกรรมฐาน พวกเราเสียดายก็เสียดาย
แต่ต้องทำตาม ท่านพูดว่าลิงดำอย่าพอใจในเทวโลก เทวโลกเป็นปัจจัยของความทุกข์ พอท่านพูด
เท่านั้นอารมณ์ก็เปลื้องออกได้ ท่านบอกว่ากลับใหม่ ถอนอารมณ์ออกมาอุปจาระ พวกเราทำตาม
ท่านสั่งต่อไปว่า เข้าฌาน ๔ ใหม่ พวกเราก็เข้าฌาน ๔ ออกจากฌาน  ๔ พวกเราออก สร้างกสิณ
ให้แจ่มใส พวกเราสร้างตาม จงอธิษฐานว่ารูปกสิณจงหายไป พรหมโลกจงปรากฏ พวกเราทำตาม
เห็นพรหมโลกแจ่มใส แล้วท่านให้ถอน และสอนว่าจงทำอย่างนี้ให้ชำนาญภายใน ๗ วัน ดูแล้วเห็น
แล้ว ถามผลกรรมเข้าด้วยแล้ว เขาทำแล้ว อะไรจึงตกนรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นเทวดา เป็น
พรหม เธอทำอย่างนี้ชำนาญแล้ว เธอจะเข้าถึงแก่นของพระนิพพาน เจริญวิปัสสนาญาณต่อ ถ้ามี
บารมีแก่กล้า จะได้วิมุตติญาณทัสสนะภายใน ๗ วัน ถ้ามีบารมีอย่างกลาง จะได้วิมุตติญาณทัสสนะ
ภายใน ๗ เดือน ถ้ามีบารมีทราม จะได้วิมุตติญาณทัสสนะภายใน ๗ ปี นี่เวลาจวนสว่างแล้วฉัน
จะไปก่อน ๗ วันแล้วฉันจะมาสอนวิปัสสนาให้ แล้วท่านก็หายไปเหมือนความฝัน
          แนวปฏิบัติเพื่อวิมุตติญาณทัสสะ เพื่อเห็นพระนิพพาน ท่านสอนมาในสมัยไปธุดงค์
ท่านสอนอย่างนี้ ผู้เขียนก็ได้เพียงฟังท่านสอน เพราะรับผลเพียงพหูสูตร ส่วนผลทางปฏิบัตินั้น
ไม่ทราบจะบอกอย่างไร เรื่องมรรคผลนั้นไม่ต้องพูดถึง ทำขณะที่ท่านบอกแจ่มใสจริง ๆ  พอ
ห่างอาจารย์เข้า ความรู้กลับไปหาอาจารย์หมด  เอามาเขียนไว้เพื่อเล่าสู่กันฟังเรื่องนิพพานมีหรือ
นิพพานสูญ ถ้าท่านประสงค์จะทราบจริง ก็ลองปฏิบัติตามท่านสอนดูบ้าง เผื่อวาสนาบารมีท่านพอ
ได้พอถึง ท่านอาจได้วิมุตติญาณทัสสนะ และพบพระนิพพานด้วยตนเอง จะได้คลายสงสัย สำหรับ
ท่านที่เจริญกรรมฐานกองอุปสมานุสสติอยู่แล้ว จงอย่าสนใจแต่คิดถึงพระนิพพาน จงปฏิบัติตาม
แนววิชชาสามนี้ด้วย ท่านจะพบความชื่นใจตามที่ท่านตั้งใจไว้
          ขอยุติอุปสมานุสสติไว้แต่เพียงนี้  ส่วนเรื่องที่เล่ามาในที่นี้ขอให้ถือว่าเป็นนิทานหรือ
ความฝันก็แล้วกัน  จนกว่าท่านจะได้เองแล้วจึงค่อยถือเอาเป็นเรื่องจริงจัง


อ้างข้อมูลจากเว็บ www.jidsai.com
ใช้เพื่อประกอบการเรียนการสอนเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น